นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบหลักการที่คณะกรรมการ เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ เสนอโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการทำประชามติเห็นควรให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง และควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามประชาธิปไตย ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง
ขณะที่ นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ได้เข้ามารายงานข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ต่อครม. 2 ส่วน ซึ่งครม. เห็นชอบตามรายงานที่เสนอ โดยส่วนแรกคือ การขอทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นคำถามว่าเห็นชอบในการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่
โดย ครม.มอบหมายให้สำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเสนอขั้นตอนการทำประชามติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มาตรา 15 เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะอยู่ในกรอบกฎหมายระหว่าง 90-120 วัน โดยการทำครั้งแรกจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,200 ล้านบาท ซึ่งทำตามกฎหมายเดิมที่ระบุ
อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกจะผ่าน แม้ยังไม่แก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ที่จะลดเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น เพราะจากการไปฟังเสียงประชาชน เขาอยากให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายนิกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากทำประชามติครั้งแรกผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้รัฐสภาประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. เป็นคนกำหนดออกแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นเมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ก็ทำประชามติครั้งที่ 2 จากนั้นจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เมื่อได้ ส.ส.ร. แล้ว จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อร่างเสร็จก็จะทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งตนมั่นใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมทั้งฉบับจะอยู่ภายในกรอบอายุของรัฐบาลชุดนี้