วันนี้(18 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บิ๋กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รักษาการ ผบ.ตร.) ได้เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานว่า จะเซ็นคำสั่งให้ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน หลังถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายกฯ เศรษฐา ได้หารือกับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ก่อนจะเห็นชอบให้ รักษาการ ผบ.ตร. เซ็นคำสั่ง ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มอบอำนาจให้ทีมทนายความไปเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน สน. เตาปูน ในคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ โดยขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 27 เมษายนนี้
“ผมยังเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตามกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณาในเรื่องของวินัย เป็นหน้าที่ของผม พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ตามมาตรา 105 ซึ่งในกระบวนการขั้นตอนจะต้องได้รับรายงานจากคณะพนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ฉบับ โดยขณะนี้ยังไม่มีการรายงานมา
และฉบับที่ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องรายงานตนว่าตนเองต้องคดี ซึ่งทั้ง 2 อย่าง 2 เส้นทางนี้ เป็นไปตามระเบียบตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และเมื่อ 2 รายงานนี้มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะต้องรายงานมาที่กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่ได้ส่งตรงมาที่ผม และเมื่อกองคดีอาญารวบรวมรายงานแล้ว จะรายงานมาที่ผมเพื่อพิจารณาเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด
ขณะเดียวกันกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะต้องรายงานผลเช่นกัน โดยเอารายงานทั้ง 2 ฉบับประกอบด้วย เหตุผล พฤติการณ์ ความรุนแรงแห่งคดี นำมาประกอบการพิจารณาในฐานะฝ่ายอำนวยการให้รักษาการ ผบ.ตร.ได้พิจารณา ซึ่งการพิจารณาเราจะดูว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำผิดวินัยเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นขั้นตอน
และเมื่อกองวินัยได้ประมวลขึ้นมาว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คือผมจะต้องพิจารณาตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏและให้โอกาสกับผู้ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้แจง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กำหนดไว้” รักษาการ ผบ.ตร. กล่าว
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงจะยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องของการพักราชการ ออกราชการ หรือ สำรองราชการไว้ก่อน เพราะเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่กำหนดไว้ ซึ่งการสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จะต้องใช้ระดับไม่ต่ำกว่าที่มียศต่ำกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งตรงนี้ตนต้องไปพิจารณาว่าจะมอบหมายให้ใคร ขณะนี้ยังไม่ถึงกระบวนการดังกล่าว
แต่หากการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏเหตุออกมาว่า มีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้น ก็จะไปเข้าอีกบทบัญญัติหนึ่งของมาตรา 119 ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็จะมีการใช้การพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขในกฎ ก.ตร. หรือไม่ เข้าองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตำรวจปี 2565 ในมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่ากรณีที่ศาลออกหมายจับจะต้องนำคำสั่งศาลที่อนุมัติหมายจับดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างกองวินัยจะนำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะมีกำหนดไว้เป็นข้อๆ อยู่แล้วว่าผู้ชี้แจงหรือผู้รายงานตนต้องคดีอาญาจะต้องรายงานอะไรเป็นข้อๆ
“หากถามว่า ณ เวลานี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องถูกพักหรือไม่ ขอเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นชั้นยศใดจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบและคำสั่ง ซึ่งข้าราชการตำรวจทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งยังถือว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังคงต้องปฏิบัติราชการอยู่ตามปกติ นี่คือสิ่งที่เราต้องให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับข้าราชการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า มีกำหนดไว้ในกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อยู่แล้วภายใน 60 วันที่จะต้องดำเนินการ และสามารถขอขยายระยะเวลาได้ ถึงเวลานั้นคณะกรรมการเขารู้อยู่แล้ว
เมื่อถามต่อว่าการตั้งคณะกรรมการจะเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่ายื้อ เรียนว่าทุกอย่างมีขั้นตอนกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่มียื้อ เราต้องให้ความเสมอภาคเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สื่อมวลชนก็ได้ยินท่านพูดว่าขณะนี้ท่านคือผู้บริสุทธิ์ ก็มีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองไป ส่วนตนเป็นผู้บังคับบัญชาก็เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบคำสั่ง