PARLIAMENT: รังสิมันต์ สงสัยสุขภาพ ‘ทักษิณ’ ถามรัฐบาลหลอกลวงหรือไม่ รับ ทักษิณมีอิทธิพลกับการเมืองไทย บอกไม่แน่ใจตกลงใครคือนายกรัฐมนตรี หลังปฏิกิริยาตอนอภิปรายถึง เศรษฐา กับทักษิณ ปฏิกิริยาต่างกัน
วันนี้ (14 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ว่าหลายฝ่ายก็มองความเป็นไปได้ว่าสุดท้ายนายทักษิณต้องการทวงคืนพื้นที่ แต่สิ่งที่ต้องมองคือเรื่องสุขภาพของนายทักษิณ เพราะที่ผ่านมาประชาชนรับรู้ว่า สุขภาพแย่มาก แต่สามารถเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ได้ มองว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดความคาใจว่าตกลงแล้วรัฐบาลหลอกลวง หรือไม่ ถ้านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริง และรัฐบาลหลอกลวง ก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในทางการเมืองก็ต้องยอมรับว่านายทักษิณ มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เคยอภิปรายถึงนายทักษิณ และนายเศรษฐาในสภา เห็นปฏิกิริยาที่แตกต่างกันคนละเรื่อง จึงเริ่มไม่แน่ใจว่าตกลงใครคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่านายทักษิณก็จะมีบทบาทสำคัญในการเมือง ส่วนจะเป็นในการเลือกตั้ง อบจ.หรือเลือกตั้งระดับอื่น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง แต่สุดท้ายอาจจะเป็นความต้องการแค่อยากกลับบ้านก็เป็นไปได้ อยากชวนมองถึงความตรงไปตรงมาความซื่อสัตย์ของรัฐบาล ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่หลอกลวงประชาชน อยากเห็นรัฐบาลที่พูดความจริง ซึ่งหลายฝ่ายบอกว่านายทักษิณถูกกระทำมาก่อน ตนก็เห็นด้วย มีหลายข้อที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่การแก้ไขไม่ใช่การโกหก ต้องมาคุยด้วยกติกาในระบบ โดยสามารถแก้ไขได้
ส่วนจะนำเรื่องนี้มาอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 หรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ ระบุว่า ยังอยู่ในกระบวนการสรุปหัวข้ออภิปราย คงยังตอบไม่ได้ แต่จะพยายามหยิบยกเรื่องสำคัญขึ้นมา เนื่องจากครั้งนี้เป็นการอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ คงไม่นำไปสู่การถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่แน่นอนว่ามีภาระทางการเมืองที่รัฐบาลต้องตอบ และต้องยอมรับว่าถ้าดูจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นต้นมาจนมาถึงกรณีของนายทักษิณ ที่ประชาชนไม่เชื่อว่ารัฐบาลพูดความจริง ผนวกกับเมื่อฟังคำตอบในเวทีการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ก็จะยิ่งสร้างปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล
นายรังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนายทักษิณที่สามารถเข้าที่สามารถกลับเข้าประเทศได้มองว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ควรเกิดขึ้นในลักษณะนี้ เพราะไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้ สุดท้ายสังคมจะมองเป็นอภิสิทธิ์ชน ซึ่งการที่สังคมไทยถูกทำให้รู้สึกว่ามีคนบางกลุ่มได้อภิสิทธิ์บางอย่างเหนือกว่าคนอื่น สังคมจะอยู่ได้อย่างไรและไม่มีทางไว้ใจกันและไม่มีทางไว้ใจกัน สุดท้ายใครอยากได้อภิสิทธิ์นี้แบบนี้ ก็ต้องมีเส้นสาย มีเครือข่ายเข้าถึงศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
ส่วนกรณีคณะกรรมมาธิการศึกษาแนวทางการจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรม จะมีเรื่องกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายรังสิมันต์ ระบุว่าตอนนี้ยังไม่ได้พูดถึงกรณีนี้ แต่กำลังหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อวางกรอบการนิรโทษกรรม ซึ่งก็มีหลายแนวคิด เช่น การแยกกลุ่ม แยกประเภท หรือรวมกัน แต่สิ่งสำคัญต้องถามว่า ตกลงแล้วมีกรรมาธิการฯ ชุดนี้มีไปทำไมถ้าในที่สุดไม่สามารถแก้นิรโทษกรรม และมีคนบางกลุ่มถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทางการเมือง ส่วนจะรวมไปถึงกรณียุบพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่าคงเป็นคนละกรณี เพราะไม่สามารถไปรวมถึงเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
รายงาน : ดาริกา ทับอุดม