26 ก.พ.2567 – พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี หรือ เสธ.นิด อดีตนายทหารนักบินกองทัพอากาศ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Vachara Riddhagni ระบุว่า เรื่องเกาะกูด นายกรัฐมนตรี ครม.ทุกคน รมว.กห.ต้องอ่านจนขึ้นใจ ผบ.เหล่าทัพ ต้องตระหนัก ฝ่ายเสนาธิการทำแผนยุทธการได้เลย ทหารทุกคนพร้อมรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือ และ “กองบัญชาการนาวิกโยธิน”
เรื่องราวเกี่ยวกับเส้นเขตแดนไทย/กัมพูชา (เขมร) นั้นสับสนสืบเนื่องมาจากการล่าเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เพราะก่อนศตวรรษนั้น “แผ่นดินเขมร” เป็นของไทยหรืออยู่ในเขตอารักขาของไทยหรือเป็นเมืองขึ้นไทย (ต้องส่งบรรณาการ) ตั้งแต่ยุคนครวัด นครธมพ่ายแพ้ต่อกองทัพอยุธยาสมัย “พระเจ้าสามพระยาหรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ยอดนักรบ นักปกครองพระองค์หนึ่ง (พ.ศ.๑๙๕๙-๑๙๙๔, ค.ศ.๑๔๑๖-๑๔๕๑) เขมรจึงย้ายเมืองหลวงไปละแวกอุดรมีชัยและพนมเปญ ตามลำดับ (เพราะกลัวสยาม)
ในยุคฝรั่งเศสล่าเมืองขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๐ (ค.ศ.๑๘๖๗) ไทยเริ่มเสียดินแดนเขมรในฐานะเมืองขึ้นไทยแต่โบราณจนในปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ค.ศ.๑๘๙๓) ฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ถูกล้นเกล้า ร.๕ มีพระราชโองการให้ยิงเรือรบฝรั่งเศส ป้องกันพระนครไว้เบื้องต้นแต่ทรงยอมเจรจาและยอมรับใช้ค่าเสียหายแต่ฝรั่งเศสขู่ที่จะส่งกองทัพมารุกรานหากไทยไม่ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ สยามจึงสูญเสียลาวและกัมพูชาในปีนั้น
ขณะที่ไทยกำลังชำระค่าเสียจมเรือรบฝรั่งเศสเป็นเงินประมาณ ๓ ล้านเหรียญเงิน (เงินถุงแดงของ ร.๓ ช่วยชาติ) ฝรั่งเศสเข้ายึดจันทบุรีและต่อมายึดตราด (หลังจากคืนตราดแล้วแต่ยึดเอา อำเภอเกาะกงไปจนทุกวันนี้) จนทำให้สยามต้องทำสัญญา พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) กับฝรั่งเศส ยกหลวงพระบางกับดินแดนทางใต้ของเทือกเขาพนมดงรักเพื่อแลกกับจันทบุรี สัญญานี้ไทยอ้างในข้อพิพาทว่าใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชา
ในปี พ.ศ.๒๔๕๐(ค.ศ.๑๙๐๗) สยามก็ทำสัญญากับฝรั่งเศสอีกยกเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย ตราดและเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ใต้แหลมสิงไปจนถึงเกาะกูดคืนมาเป็นของไทย (ข้อเท็จจริงนี้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาแต่โบราณจนฝรั่งเศสใช้อำนาจยึดไปอย่างโจร) สนธิสัญญานี้จึงเป็นหัวใจสำคัญในการประกาศว่า “เกาะกูด” เป็นของไทยมาแต่โบราณกาลและสยามโดยพระราโชบายอันแยบยลของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงชนะสงครามการเมืองการทูตกับฝรั่งเศสเพราะทรงสร้างดุลสงครามโดยมี รัสเซียและเยอรมนีเข้าข้างไทยและห้ามไม่ให้ฝรั่งเศสรุกรานสยาม
และ “ข้อมูลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง” คือ สัญญาไทยไฝรั่งเศส ฉบับ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ (มีรายละเอียดในแฟ้มกองบรรณาสาร กระทรวงต่างประเทศ) มีรายละเอียดในข้อ ๒ ดังนี้
รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายแลเมืองตราษกับทั้งเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดให้แก่กรุงสยามตามกำหนดเขตรแดนดังกล่าวมาแล้ว
(และมีสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนติดท้ายหนังสือสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ รายละเอียดสำคัญในข้อ ๑ คือ :-
เขตรแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดชินของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแลเป็นที่เข้าใจกันชัดเจนด้วยว่า แม้จะมีเหตุการอย่างไรๆ ก็ดี………….
สรุปง่ายๆ ว่า “เกาะกูดในสัญญาต่างๆ ของสยามกับฝรั่งเศสเป็นของไทยและเกาะกูดในสัญญานั้นๆ เป็นเพียงตำบลอ้างอิงทางเลขาคณิตภูมิศาสตร์ที่จะใช้ลากเส้นจากยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูดไปยังพื้นที่บนแผ่นที่ภูมิศาสตร์กายภาพเท่านั้น
เขมรหรือว่าใครๆ อย่าได้อ้างอะไรๆ เลยว่า “เกาะกูด” เป็นของเขมรเพราะ “เกาะกูด” เป็นของคนไทยครับ
หมายเหตุ:- เขาเรือรบ เป็นเขาที่สำคัญและสูงที่สุดบนเกาะกูด ตั้งอยู่ที่ บ้านง่ามโข่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด บนยอดเขาใจกลางของเกาะกูด มีถ้ำลับแล ซึ่งเคยมีการค้นพบวัตถุโบราณจำนวนมาก แต่ขณะนี้ถ้ำได้ปิดตัวลงไป และไม่มีใครกล้าเข้า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากที่สุดคือ แนวหินภูเขาที่มีอายุหลายพันปีเป็นรูปเรือรบหลวงจอดเรียงกัน จำนวน 3 ลำ ความสูงประมาณ 3-4 เมตร ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยด้านบนยังมีพระพุทธรูป หล่อจำลองเท่าองค์จริงของ กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย) พระบิดาแห่งราชนาวีไทย ประดิษฐานอยู่กลางระหว่างเรือรบ 3 ลำ พร้อมด้วยพระพุทธประธานพรราชนาวี หน้าตัก 32 นิ้ว ศาลหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของเสด็จเตี่ย โดยเขาดังกล่าวเป็นที่เคารพนับถือของชาวประมงในระแวกนั้น เมื่อแล่นเรือออกทะเลหาปลา ก็จะต้องยกมือไหว้ขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย