วันที่ 2 ก.พ. 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกลภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง มีรายละเอียดดังนี้…
.
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ค่ำวันเดียวกัน ผมได้วิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ตั้งแต่หัวยันท้าย ไปแล้วนััน
.
วันนี้ ผมจะขอวิจารณ์พรรคก้าวไกลและเสนอแนะต่อสาธารณะ
.
ผมเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาสมัยพรรคอนาคตใหม่ ผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในพรรคในเรื่องแหลมคม จึงขอใช้ประสบการณ์เหล่านี้ แนะนำไปถึงพรรคก้าวไกล คณะแกนนำ ส.ส. พนักงาน สมาชิก รวมถึงกองเชียร์ผู้สนับสนุนพรรค ดังนี้
.
- พรรคก้าวไกลต้องถือธงนำประชาชน
.
ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ต้องตระหนักเรื่องการเป็นพรรคการเมืองที่นำความคิดมวลชน ความเป็นพรรคอะวองการ์ดด้วย มิใช่ ปล่อยให้มวลชนนำโดยลำพัง แล้วรอเก็บดอกผลความนิยมจากการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเองเข้าไปมีอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว
.
ในช่วงเวลาที่ “นิติสงคราม” รุมกระหน่ำซัดพรรคก้าวไกลในช่วงเวลานี้ ผมอยากให้พรรคตั้งสติ ตั้งหลักให้ดี อย่าลนลานตระหนกตกใจ จนเดินสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไร้แนวคิดรากฐาน
.
แน่นอน มีความกลัว มีความกังวล ถึงภัยทางกฎหมายที่จะตามมาเป็นลูกระนาด ความกลัวเหล่านี้เกิดได้เป็นธรรมดา เรา ปุถุชนคนทั่วไป ก็รู้สึกเช่นนี้ได้แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ขอให้กลับมายืนหยัดนำความคิดประชาชนให้ได้
.
อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่รอคอยความช่วยเหลือจากมวลชนให้ปกป้องตนเอง ถึงเวลาก็เรียกใช้มวลชนให้ปกป้อง แต่กลับไม่คิดอ่านขยับขยายการต่อสู้เลย
.
อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ก็จะมีกองเชียร์ผู้สนับสนุนคอยปกป้อง โดยไม่คิดชี้นำความคิดมวลชนของพรรค แล้วก็กอบโกยเอาความนิยมจากมวลชนไปอย่างเดียว
.
อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกล เปลี่ยนจาก “ยานพาหนะของการเปลี่ยนแปลง“ ไปเป็น “ยานพาหนะให้คนกลายเป็นอำมาตย์รายใหม่” กลายเป็นที่รวมตัวกันของคนทึ่อยากเป็น ส.ส. เป็น รมต.
. - หาช่องทางที่ยังพอเป็นไปได้ในการผลักดันการแก้ไข 112 ต่อไป
.
ตามสภาพองค์ประกอบของพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภา ณ เวลานี้ ไม่น่าจะมีพรรคการเมืองพรรคไหนกระตือรือร้นกับการแก้ไขปัญหาเรื่อง 112
.
หากพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่า มาตรา 112 เป็นปัญหาสำคัญในการเมืองไทย กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ พรรคก้าวไกลก็ต้องรับภารกิจนี้เดินหน้าต่อไป
.
หากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามการแก้ไข 112 อย่างสัมบูรณ์เด็ดขาด
.
ต่อให้เราจำเป็นต้องยอมรับคำวินิจฉัย จำเป็นต้องทำตามคำวินิจฉัยนี้ มันก็ยังพอมีช่องทางให้ผลักดันแก้ไข 112 ได้อยู่ นั่นคือ การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็น ดังต่อไปนี้
.
ลดอัตราโทษ
.
ยกเลิกโทษจำคุกขั้นต่ำ
.
แบ่งแยกความผิด ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ หมิ่นประมาท ฐานหนึ่ง ดูหมิ่น ฐานหนึ่ง แสดงความอาฆาตมาดร้าย อีกฐานหนึ่ง และแบ่งแยกตามตำแหน่งที่คุ้มครอง
.
กำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 แต่เพียงผู้เดียว
.
เมื่อประตูการแก้ไข 112 ยังคงเปิดอยู่ ยังพอมีพื้นที่ให้ขยับขยายอยู่บ้าง พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรละทิ้ง โดยอ้างแต่เรื่องความอยู่รอดปลอดภัยขึ้นบังหน้า
. - กล้าหาญยืนยันโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ
.
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมแทบไม่เห็นคนของพรรคก้าวไกลออกมาตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญเลย เท่าที่เห็น ก็มีเพียงการแถลงสั้นๆของหัวหน้าพรรคเท่านั้น
.
จุดยืนของพวกเราตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ คือ การต่อสู้กับขบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่ ณ วันนี้ ผมเห็นการต่อสู้ในเรื่องนี้น้อยมาก
.
ผมยังดีใจ ที่หัวหน้าพรรคไม่ไปฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31
.
ผมดีใจ ที่พรรคแถลงโต้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาบ้าง
.
แต่ผมเห็นว่าน้อยเกินไป
.
ตามระบบรัฐธรรมนูญ ที่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลากหลาย มีแต่ ส.ส. มีแต่นักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐนี่แหละ ที่จะต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง
.
การปล่อยให้ประชาชนคนทั่วไปรับภาระในการสู้กับศาล นั่นคือ การผลักภาระให้พวกเขาเสี่ยงโดนคดี
.
ส.ส.ต่างหากที่มีอำนาจตรากฎหมาย อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ
.
พรรคการเมืองต่างหากที่มีโอกาสเสนอนโยบายผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปมีอำนาจรัฐ
.
หาก ส.ส. และพรรคก้าวไกล ไม่คิดสู้กับศาลรัฐธรรมนูญบ้างเลย ตามหน้ากระดานตอนนี้ ก็คงไม่เหลือใครที่พอจะยันกับศาลรัฐธรรมนูญได้
.
ในท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขยับกินแดน สถาปนาตนกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง
.
การโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้ตั้งแต่
.
วิจารณ์คำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา
.
ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย หรือ ตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาทั้งหมด
.
เสนอร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
.
เสนอร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ตีกรอบมาตรา 49 มิให้รวมถึงการเสนอร่างกฎหมาย การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงสกัดขัดขวางกระบวนกา
.
นิติบัญญัติในทุกขั้นตอน เว้นแต่ การตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.ป.ภายหลังจากผ่านรัฐสภาและก่อนทูลเกล้าฯเท่านั้น
.
เสนอร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนที่มาและองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ
.
เสนอร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญได้
.
เสนอร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน เป็นต้น
. - กล้าหาญผลักดันเสนอร่างพระราชบัญญัติอื่นๆที่แหลมคมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
.
พรรคก้าวไกลประกาศนโยบายไว้มากมาย หลายเรื่องต้องตราเป็นกฎหมาย หลายเรื่องเป็นเรื่องแหลมคม
.
พรรคก้าวไกลต้องไม่กลัว ต้องต่อสู้ผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป อย่ากลัวโดนยุบพรรค ตัดสิทธิ เสียจนไม่กล้าคิดอ่านทำอะไรเลย เพียงเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งต่อให้ไม่ทำ ก็อาจไม่รอด หรือต่อให้รอด ในอนาคต กลับมาทำอะไรแหลมคมขึ้นอีก พวกเขาก็จัดการอยู่ดี การหมอบยอม ทำได้เพียงยืดลมหายใจและไปรอตายเอาดาบหน้าเท่านั้น
.
นอกจาก ร่าง พ.ร.บ.จำนวนมากที่พรรคก้าวไกลเสนอไว้ พรรคก้าวไกลอาจไปลองขบคิด พิจารณากันดูว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงความเป็นประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพิ่มเข้าไปอีก หรือไม่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
. - ประชุม สส. พนักงาน เครือข่ายทั่วประเทศ ปลุกขวัญกำลังใจ ตั้งหลัก หลอมรวมความคิด
.
ผมทราบจากเพื่อน ส.ส.หลายคน เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมีคำวินิจฉัย พรรคไม่ได้เรียกประชุม ส.ส.และทุกองคาพยพ เพื่อพูดคุยตระเตรียมทำความคิดในกรณีเกิดสถานการณ์เลวร้ายจากคำวินิจฉัยไว้เลย มีแต่เพียงการขบคิดกันโดยคนไม่กี่คน ไม่แจ้ง ไม่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน
.
เอาล่ะ ไม่เป็นไร ที่แล้วก็แล้วไป
.
แต่ ณ วันนี้ แกนนำพรรคควรเรียกทุกหน่วย ทุกศูนย์ ของพรรค ประชุม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ หลอมรวมความคิด แสดงความเห็นแลกเปลี่ยน ปลุกเร้าการต่อสู้
.
การปล่อยไปตามยถากรรม ให้ ส.ส.และพนักงาน อยู่เฉยๆ หุบปากเงียบๆ แล้วรอการตัดสินใจของคนไม่กี่คน ไม่ใช่แนวทางที่จะหลอมรวมพลังได้
. - สร้างประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในพรรค เพื่อมิให้พรรคแตก
.
สมัยพรรคอนาคตใหม่ การลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรค
.
ตอนนั้น ผมใช้เวลาในการหลอมรวมความคิดให้เป็นเอกภาพ โดยการประชุมถึง 4 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง จนสุดท้ายมี ส.ส. 70 จาก 80 คน ลงมติไม่อนุมัติ ตามมติพรรค
.
ถึงกระนััน ก็เกิดความขัดแย้งทางความคิดตามมา หลายคน ไม่ต้องการไปต่อกับพรรค หลายคน เริ่มกังวลว่าอยู่ที่นี่จะต้องเสี่ยงภัยมากขึ้นๆ ก็แยกย้ายกันออกไปตามวิถีทาง
.
มารอบนี้ ผมคาดการณ์ว่า ประเด็นการเสนอร่างแก้ไข 112 (แก้แบบ Lite Version ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญท้วงมา) ประเด็นการสู้ในประเด็นแหลมคมต่อไป จะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งทางความคิดรอบใหม่
.
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด เพราะ กลัวซวย กลัวเดือดร้อน กลัวโดนตัดสิทธิทางการเมือง
.
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด เพราะ กังวลอนาคต
.
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด ถอยมาตั้งหลัก ไปทำประเด็นอื่น เพื่อรอไปเป็นรัฐบาลดีกว่า
.
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด ยอมรับความจริงว่าตอนนี้ ทำได้เท่านี้ พอก่อน รักษาชีวิตเพื่อการเลือกตั้ง 70 ดีกว่า
.
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรเดินหน้าต่อ หาช่องทางพื้นที่ที่พอขยับขับเคลื่อนได้บ้าง ไต่เส้น ยันเพดานไว้
.
ทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่า ไล่ไปตั้งแต่ แกนนำพรรค ส.ส. พนักงาน เครือข่ายทั่งประเทศ สมาชิก โหวตเตอร์ กองเชียร์ ต่างก็เห็นต่างกันไป
.
การประเมินทางการเมือง ว่าจะเดินอย่างไร ไม่มีแบบไหนที่ถูกหมด ผิดหมด ทั้งหมด คือ ประเมิน อาจได้ อาจเสีย อนาคตจะเป็นคนบอกเรา
.
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เราควรปล่อยให้ใครไม่กี่คนประเมินตัดสินใจกันไป และคนที่เหลือต้องมารับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น การประเมินในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก กระทบองค์กร เช่นนี้ ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด
.
มิใช่ มีคนไม่กี่คนเคาะมาจากข้างบน และเมื่อผิดพลาด ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
.
สถานการณ์ดำเนินมาถึงขนาดนี้ ควรคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ และแสวงหามติร่วมกัน
.
มีแต่วิธีแบบนี้ที่จะไม่ทำให้พรรคแตก
.
เปิดโอกาสให้คนในพรรคได้รวมกลุ่ม สร้างแนวทางของกลุ่ม แข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆว่าแนวทางไหนที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็ให้ขึ้นนำพรรค พาพรรคไปตามแนวทาง และเมื่อหมดรอบหรือไม่สำเร็จ ก็พ้นไป ให้กลุ่มอื่นที่ได้รับความวางใจจากสมาชิก ขึ้นมาต่อ
.
หากทำเช่นนี้ได้ นอกจากจะไม่ทำให้พรรคแตกแยกแล้ว ยังทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นสถาบัน สอดคล้องกับพรรคการเมืองที่ควรเป็น มีการแข่งขันกันภายในพรรคว่าแนวทางแบบใดที่ครองอำนาจได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และมีโอกาสเปลี่ยนแนวทางการนำได้เสมอ
.
ธรรมชาติของการเกิดขึ้นของพรรคแบบพรรคก้าวไกล ความเห็นแตกต่าง ไม่ได้ทำให้แตกแยก แต่ความเห็นที่มาจากการรวมเผด็จอำนาจของคนไม่กี่คนที่สั่งลงไป โดยไม่ให้คนอื่นๆได้โต้แย้งต่างหาก ที่จะกลายเป็นน้ำเดือดในการอวันระเบิด ใช้วิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสเถอะครับ
.
ผมได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น สื่อสารผ่านสาธารณะ ด้วยหวังว่าจะไปถึงหูถึงตาพรรคก้าวไกล คณะนำ ส.ส. พนักงาน เครือข่ายพรรค สมาชิก และโหวตเตอร์ จะเชื่อผมหรือไม่
.
จะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง
.
ก็สุดแท้แต่ ผมไม่มีอำนาจใดไปบังคับสั่งการได้
.
ผมทำไป เพราะ ยังมีความหวังกับพรรคก้าวไกล
.
ผมไม่อยากเห็นพรรคก้าวไกล คณะนำพรรค ส.ส.เพลิดเพลินกับกระแสคะแนนิยมจนคิดไปว่า “โหวตเตอร์ทั้งหมดเป็นของตาย” อย่างไรเสีย การเมืองไทย ก็ไม่หลงเหลือทางเลือก ไม่ว่าเราทำอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายประชาชนก็ไม่เหลือทางเลือกที่ดีกว่านี้ ต้องเลือกเราอยู่ดี
.
เพราะ ผมเห็นพรรคการเมืองที่ผ่านมาคิดกันแบบนี้ ผมถึงตัดสินใจทิ้งชีวิตมหาวิทยาลัย มาตั้งพรรคอนาคตใหม่
.
ผมไม่อยากเห็นพรรคก้าวไกล คณะนำ และคนในพรรค เพลิดเพลินกับกระแสสูง จนจมไม่ลง ละเลิกคิดเปลี่ยนแปลง คิดแต่ว่าจะได้เป็น ส.ส.เป็น รมต.เมื่อไร
.
หากวันใดพรรคก้าวไกลและคณะนำพรรคคิดกันแบบนี้ ผมคงรู้สึกผิดบาป ต้องแสวงหาสิ่งเคารพส่วนตนสารภาพบาปว่าไม่น่าตั้งพรรคขึ้นมาเลย
.
ทุกวันนี้ ผมยังเชื่อมั่นพรรคและคนในพรรค
.
ไว้วันไหน ผมหมดศรัทธากับพรรค และคนในพรรค ผมคงดีลีทได้ และไม่สนใจมันอีกเลย