เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่รัฐสภา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันแรก ว่า ตนขอเชิญชวนเพื่อนสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมร่วมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 นี้ ขอให้คิดถึงพี่น้องประชาชน คิดถึงผู้ประกอบการ นึกถึงประเทศที่รอพวกเราอยู่ เพราะขณะนี้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ถูกใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 4 เครื่อง คือ การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเครื่องยนต์ตัวที่ 4 ถูกดับมา 3 เดือนแล้ว กว่าพวกเราจะพิจารณางบประมาณฯเสร็จเรียบร้อยใช้เวลา 3-4 เดือน เครื่องยนต์เครื่องนี้จะถูกใส่เกียร์ว่างต่อไป ฉะนั้น ในการอภิปรายจะมีสมาชิกได้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ แต่ในที่สุดเราต้องเร่งพิจารณาผ่านงบประมาณฉบับนี้ ให้มีเม็ดเงินออกไปใช้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายเอกนัฏ กล่าวว่า นอกจากประเทศรอไม่ได้แล้ว เราพูดกันอยู่เสมอ ว่า ในยุคของโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงของโลกแบบพลิกผืนแผ่นดิน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราประสบปัญหาโควิด โรคอุบัติใหม่ เรากำลังถูกท้าทายด้วยการดิสรัปชันด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเดิมดิจิทัล ดิสรัปชัน มาเป็น AI ดิสรัปชัน เรากำลังเผชิญกับความท้าทายในส่วนของสังคมผู้สูงวัย ตัวเลขที่ถูกวิเคราะห์เราเห็นเลยว่าทุก 10 ปี ปี 56 ปี 66 และปี 76 มีการประเมินว่า สัดส่วนของผู้สูงวัย สูงขึ้นทุก 10 ปี 7-10% จะส่งผลอย่างไรต่อประสิทธิภาพ ในผลผลิตของประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย คือ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เพราะประเทศเราสร้างรายได้จากพื้นฐานของการทำเกษตรกรรม
ทั้งนี้ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรเกิดภัยแล้งถี่มากทุก 2 ปี ฉะนั้น เครื่องยนต์ที่รอให้ติดในส่วนของการขับเคลื่อนภาครัฐ รวมถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด หรือผลกระทบที่ส่งมาจากต่างประเทศ ทั้งสงครามความขัดแย้ง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราต้องเร่งพิจารณางบประมาณฉบับนี้เพื่อดันเงินออกไปใช้ ตนเชื่อว่า ถ้าเราช่วยกันเราสามารถปรับวิธีคิดในการบริหารจัดการใช้งบประมาณใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตนเชื่อว่า เราจะสามารถสร้างโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ตนไม่อยากให้โอกาสที่เป็นของประเทศที่เกิดจากวิกฤติต้องสูญเสียไปในขณะที่ประเทศไทย มองประเทศเพื่อนบ้านตาปริบๆ GDP เพิ่มขึ้น 4% 5% บางประเทศเพิ่ม 6% ที่เราคาดการณ์กันไว้ GDP ปีนี้อย่างดีจะเพิ่มประมาณ 3% กว่า ถ้าจะทำได้ต้องรีบพิจารณาและเร่งใช้งบประมาณฉบับนี้ ตนยังมีความหวังกับประเทศนี้
นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า การใช้งบประมาณของประเทศมีการตั้งงบขาดทุนมาเป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2550 มีการตั้งงบสำหรับใช้มากกว่ารายรับของประเทศ ส่วนต่างตรงนี้เรานำมาลงทุนด้วยความหวังที่ว่า จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสร้างรายได้ให้กับประเทศ และในที่สุดก็นำรายได้เหล่านี้มาแบ่งปันในรูปแบบของสวัสดิการมาแจกจ่ายให้กับประชาชน คนไทยได้ใช้ สำหรับงบประมาณฉบับนี้ มีการตั้งงบขาดทุนไว้เกือบ 7 แสนล้านบาท 6.93 แสนล้านบาท ตนมาเห็นว่าในส่วนงบลงทุน มีการตั้งไว้ 7.18 แสนล้านบาท แบบนี้มาถูกทางแล้ว เราตั้งงบรายจ่ายสูงกว่าเงินที่เรารับมาในสัดส่วนที่ตรงกับเงินที่นำไปลงทุนแบบนี้ตนถือว่า เริ่มติดกระดุมถูกเม็ด ติดกระดุมแบบนี้แปลว่า เราเห็นความสำคัญ ของการตั้งงบสำหรับการลงทุน
เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ตนชวนสมาชิกทุกคนในการพิจารณางบประมาณฯฉบับนี้อย่ามองยอดงบประมาณเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น ถ้าเราอยากใช้งบก้อนนี้เป็นการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพแบบมียุทธศาสตร์ อย่ามองเฉพาะยอดเงินที่ปรากฏในเล่ม พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ อย่าดูแค่ว่ามีการตั้งเงินไว้ล้านบาทร้อยล้านบาทพันล้านบาท นำไปซื้ออะไรได้บ้าง สามารถสร้างถนนได้กี่เส้นสามารถสร้างอาคารได้เท่าไหร่ แต่เราต้องมองว่างบประมาณฉบับนี้โดยเฉพาะงบลงทุนที่ถูกนำไปใช้ จะช่วยเติมเต็มในส่วนของภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ได้เท่าไหร่ จะทำแบบนี้ได้ต้องปรับวิธีคิดใหม่ปรับมายด์เซ็ทใหม่ ไม่ได้มองงบประมาณเป็นเพียงตัวเลข เราต้องใช้งบประมาณเป็นงบลงทุนที่มียุทธศาสตร์
“โครงการใหญ่ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เราจับต้องได้ ถ้าอากาศยานโลจิสติกส์ถนนหนทาง หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เราไม่สามารถจับต้องได้ เช่น ดิจิทัล AI หรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่เช่น EV อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น พลังงานสะอาด คาร์บอนเน็ตซีโร่ การเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวด้วย Soft Power เรื่องเหล่านี้เป็นภารกิจสำคัญของประเทศ ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องทำให้ใหญ่ทำให้เร็วและทำให้แรง” นายเอกนัฏ กล่าว
นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่า ใน พ.ร.บ.งบประมาณ มีคำว่า บูรณาการปรากฏไว้เต็มไปหมด ผมขอชื่นชมพี่น้องข้าราชการในการพิจารณางบประมาณช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้คำนึงถึงการบูรณาการงบประมาณ แต่ขอให้รัฐบาลที่จะนำงบนี้ไปใช้ไปอีกสเต็ปหนึ่ง เมื่อเช้าได้ฟังนายกรัฐมนตรีแถลงแนวทางการใช้งบประมาณต่อที่ประชุมสภาทำให้ชื่นใจว่า จะมีการบูรณาการแบบจริงจัง หรือตนเรียกว่า การรวมศูนย์การใช้งบประมาณ ยกตัวอย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล AI เราอยากให้เกิดขึ้นแต่ ถ้าเราแจกงบไปตามกระทรวงต่างๆ ให้ไปทำ เพียงแต่มาหยอดลงกล่องแล้วใช้ปากกาขีดรวมกันเชื่อมกัน แล้วบอกว่าเป็นการบูรณาการ ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน ต่างหน่วยงานก็จะนำงบไปซื้อกล่องมาเก็บข้อมูลเก็บไว้ใน Data จะมีแต่เก็บข้อมูลแต่ไม่มีการเชื่อมต่อ เรื่องสำคัญแบบนี้ต้องมีการริเริ่มและส่งสัญญาณชัดเจนอย่างรัฐบาลส่วนกลาง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ตนเชียร์ให้ออกแบบให้เป็นระบบทั่วประเทศจัดงบประมาณไปตามหน่วยงานต่างๆ แล้วมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพถ้าทำแบบนี้ได้งานถึงจะสำเร็จ รวมไปถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบโลจิสติกส์ด้วย
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสงครามความขัดแย้งทั่วโลก มีต้นทุนการขนส่งแพงขึ้น อาจจะลดต้นทุนของประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการต้องสานต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกสร้างและพัฒนามาตลอด 9-10 ปีที่ผ่านมา ที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถไฟรางคู่ ถนนหนทาง รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยาน หรือท่าเรือทางน้ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขอบคุณที่ในงบประมาณฉบับนี้มีการตั้งงบไว้เกือบ 2 แสนล้านในการสานต่อเพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ ลดต้นทุนของประชาชน
สำหรับ ในเรื่อง EV และพลังงานสะอาดการเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวเรื่องเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ จะมีสมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติมาพูดต่อจากตน นอกจากทำใหญ่ทำเร็วทำแรงแล้ว ต้องมียุทธศาสตร์การใช้ในพื้นที่ เราเห็นความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด จนมาถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติมากมาย มีการตั้งงบในการลงทุนพัฒนาพื้นที่โซนนี้ต่อ แต่แค่นี้ยังไม่พอ ไม่ใช่แค่ภาคตะวันออกอย่างเดียว ที่จะให้เกิดในการบูรณาการงบประมาณแบบนี้ ตนอยากให้เกิดทางภาคเหนือ ทางภาคอีสาน ทางภาคตะวันตก และที่สำคัญมีการพูดกันหนักมากคือการ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และเรื่องนี้จะต้องผสมรวมกับโครงการแลนด์บริจด์เข้าไปด้วย หากมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง แบบนี้จะถือว่าเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจริงที่จะนำรายได้มาสู่ประเทศ
นอกจากนั้น ตนบอกแล้วว่า ในขณะที่เราพูดกันอยู่ในสภาฯ ประชาชนะประเทศรอเราอยู่ กว่าจะพิจารณาเสร็จผ่านไปอีก 3-4 เดือน ในปีงบประมาณเรามี 12 เดือน แต่เหลือเวลา 4-5 เดือนที่จะใช้งบประมาณเท่านั้น ดังนั้นเมื่อพิจารณาเสร็จจะต้องเร่งใช้งบประมาณด้วย วิธีหาคนมาช่วยใช้แบบง่ายที่สุดคือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกระจายใช้ หลายปีที่ผ่านมามีการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ นำความเจริญไปสู่ท้องถิ่นวันนี้ประมาณ 29% จากเป้าหมาย 30% ในปีนี้เหลือเวลา 4-5 เดือนถ้าให้การใช้คล่องตัวมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ถ้ากรมกองใช้ไม่ทัน มีแนวคิด มีแนวทางอยู่ 2 ทาง คือ 1. ตัดมานำมากองรวมแล้วใช้แบบรวมศูนย์ในโปรเจคใหญ่ หรือ 2. ดีไม่แพ้กันกระจายออกไปให้ท้องถิ่นช่วยใช้ปรับหลักเกณฑ์กติกาให้เขาได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส
ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาตนชวนเพื่อนสมาชิกให้คิดว่า ถ้าอยากให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมีการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้เราต้องเห็นความสำคัญในการใช้งบประมาณมากกว่าตัวเลข เราดูแค่งบเป็นตัวเลขไม่ได้ ยังมีกระทรวงและหน่วยงานอีกหลายหน่วย ที่ไม่ได้มีภารกิจมารับเป็นเงิน ไปตั้งงบประมาณเพื่อจะซื้อจัดจ้างมาสร้าง หรือใช้งบประมาณเท่านั้น มีหลายหน่วยงาน มีกระทรวงที่มีภารกิจเป็นการกำกับดูแล คือ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม 2 กระทรวงของพรรครวมไทยสร้างชาติรวมกันเพียง 7 -8 พันล้านเทียบกับกระทรวงอื่นกระทรวงเดียวเป็นแสนล้าน น้อยที่สุดเมื่อเรียงลำดับในแต่ละกระทรวง
“แต่ผมมั่นใจว่า ถ้าบริหารกระทรวงในลักษณะอย่างดี มีประสิทธิภาพจะได้ผลดีกว่าการใช้เงินผ่านกระทรวงอื่น ๆ ถ้าจะทำอย่างดีได้ต้องเข้าใจภารกิจสำคัญของกระทรวง ต้องกล้าที่จะรื้อระบบด้วยการแก้กฎหมาย มีเพื่อนสมาชิกพูดถึง ผลงานของงานของรัฐบาลเรื่องการลดค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า จนเข้าใจว่าหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นภารกิจเฉพาะหน้าภารกิจเร่งด่วนก็ต้องแก้ปัญหาด้วยเงิน คือการลดภาษี การนำเงินกองทุนไปใช้บ้าง แต่ถ้าได้ฟัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน จะเห็นวิสัยทัศน์ว่า จะมีการรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนราคาพลังงานที่มาจากน้ำมันและไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ต้องมีแนวคิดแบบนี้” นายเอกนัฏ กล่าว
นายเอกนัฏ กล่าวว่า เช่นเดียวกับกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อมีงบประมาณน้อยแต่มีอำนาจมาก ก็ต้องมีการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับการใช้งบประมาณ จัดการปัญหาของเสีย ที่ถูกผลิตจากโรงงานที่เป็นมลภาวะของประเทศ มีผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งต้องมีการส่งเสริมให้มีการทำมาค้าขายสะดวกช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่เป็น SME กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อย เมื่อดึงนักลงทุนมาแล้วก็ต้องส่งเสริมสร้างห่วงโซ่การผลิต เพื่อดูแลผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อยไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการทำงานของนายพีระพันธุ์ ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กระทรวงอื่นก็เช่นกันแม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่มาก แต่ก็มีแรงบันดาลใจในการทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศชาติได้ไม่แพ้กัน มากไปกว่านี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์เราอยากได้รับความเชื่อมั่นจากประชาคมโลก เราอยากให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในโครงการใหญ่ๆ แต่ทั้งหมดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าการบริหาร การใช้งบประมาณของประเทศมีการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องนี้สำคัญมาก สำคัญที่หนึ่งคือ เงินที่ถูกส่งไป 100 บาท ก็หวังว่า จะใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงมือประชาชน ใช้ประโยชน์ให้กับประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เรื่องนี้เราได้ยินมาตลอด คุยกันเองว่างบประมาณถูกตัดไปกี่เปอร์เซ็นต์ ขอได้ไหมจากนี้ไปอย่าให้มีข่าวลือแบบนี้ อย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ อยากให้เงิน 100 บาทไปถึงมือประชาชนเต็มทั้ง 100 บาท
“เราได้เห็นพัฒนาการการแก้กฎหมายในส่วนของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 มีการอัปเกรดระบบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ebidding ทำให้การประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น” นายเอกนัฏ กล่าว