ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเห็นถึงโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมการฯ มีความครบถ้วนและรอบคอบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ฝ่ายเลขานุการฯ และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ควรศึกษาและนำเสนอข้อมูลที่มีความชัดเจนต่อคณะกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
กรณีแหล่งเงินของโครงการฯ โดยข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการนั้น ธปท. เห็นว่า หากจะเสนอให้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ควรมีการศึกษาและนำเสนอข้อมูลแหล่งเงินงบประมาณ ประมาณการ วงเงินงบประมาณที่อาจนำมาใช้ได้ และแนวทางในการบริหารงบประมาณรายจ่ายรายการต่าง ๆ ให้ชัดเจน
รวมทั้งควรพิจารณาว่า การใช้เงินงบประมาณตามที่ระบุนั้น สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ซึ่งหากยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องตีความหรือวินิจฉัย ควรหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ได้ข้อยุติเช่นเดียวกับที่เคยหารือในช่วงก่อนหน้า โดยมี 3 ประเด็นดังนี้
1.หากเสนอให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่า เป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นที่ไม่อาจใช้งบประมาณที่จัดสรรไว้แล้ว
2.หากเสนอให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ควรชี้แจงได้ชัดเจนถึงเหตุผลในการใช้เงินและแหล่งเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
3.หากเสนอมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลรับภาระ จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่า การดำเนินการนั้นอยู่ในหน้าที่ อำนาจ และขอบวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นหรือไม่ พร้อมทั้งจะบริหารจัดการภาระทางการคลังและผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานนั้นอย่างไร
อย่างไรก็ตามในช่วงของการแถลงข่าวหลังการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า นโยบายการเติมเงินดิจิทัล ที่ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดครั้งนี้รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ