“ขุนโกหก” ก่อ “กบฏไพร่” ปีนท้ายช้างฟันแม่ทัพที่มาปราบตาย! พอจะเข้าเมืองโดนโป้งเดียวจบ!!
…
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา หลังจากเสียกรุงครั้งที่ ๑ บ้านเมืองกำลังอ่อนแอและยากแค้น เพราะถูกพม่าริบทุกอย่างไปหมด จนไม่มีอาวุธจะป้องกันตัว ให้มีข้าราชการบริหารงานแผ่นดินและทหารไม่เกิน ๑,๐๐๐ คน ได้เกิดกบฏขึ้นรายหนึ่ง ซึ่งประวัติศาสตร์จารึกไว้ในชื่อ “กบฏไพร่” เพราะคาดว่าหัวหน้ากบฏที่ใช้ชื่อ “ญาณพิเชียร” เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ศึกษามาทางวิชาคาถาอาคม แต่พระราชพงศาวดารฉบับบริติซมิวเซียมให้ฉายาว่า “ขุนโกหก” เพราะปลุกปั่นชาวบ้านด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่ก็มีคนหลงเชื่อเข้าเป็นพวกได้มาก ซ่องสุมผู้คนที่ตำบลบ้านยี่ล้น ขุนมงคล นายแขวง ส่งข่าวไปทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงส่งเจ้าพระยาจักรีนำกำลังไปปราบ
เมื่อพระยาจักรีไปตั้งทัพที่ตำบลบ้านมหาดไทย “ขุนโกหก” ซึ่งกำลังผยอง ก็เป็นฝ่ายนำกำลังเข้าโจมตี ส่วนชาวตำบลบ้านมหาดไทยที่ยืนอยู่ข้างหน้าของเจ้าพระยาจักรีก็หันไปเป็นพวกญาณพิเชียร ขณะที่รบพุ่งกัน “พันไชยธุช” ซึ่งน่าจะเป็นข้าราชการระดับผู้น้อย ที่มียศแค่พัน ต่ำกว่าหมื่นและขุน หรือระดับนายบ้าน ก็ปีนขึ้นทางท้ายช้าง ฟันเจ้าพระยาจักรีตายคาคอช้าง ฝ่ายทหารหลวงจึงแตกกระเจิง เสียขุนหมื่นนายทหารไปหลายคน ทำให้มีชาวบ้านฮึกเหิมเข้ามาร่วมกับญาณพิเชียรมากยิ่งขึ้น มีกำลังถึง ๓,๐๐๐ คน ญาณพิเชียรได้แต่งตั้งพันไชยธุชขึ้นเป็น พระยาจักรี ตั้งหมื่นศรียี่ล้นขึ้นเป็น พระยาเมือง จากนั้นก็นำกำลังมุ่งเข้ายึดเมืองลพบุรี
ขณะนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ส่งพระยาสีหราชเดโชไปซ่อมกำแพงเมืองลพบุรีพอดี พอทราบข่าวว่ามีกบฏยกกำลังมา พระยาสีหราชเดโชได้ขี่ช้างนำทหารเท่าที่มีออกไปตั้งรับที่ตำบลหัวตรี ส่วนญาณพิเชียรก็ขี่ช้างร้องสั่งให้กองกำลังกบฏที่มากกว่าเข้าปะทะทหารหลวงอย่างไม่ครั่นคร้าม
พงศาวดารได้บันทึกว่า มีชาวต่างประเทศคนหนึ่ง มีชื่อว่า “อมรวดี” ซึ่งอาจจะเป็นชาวโปรตุเกสก็ได้เพราะชำนาญปืนไฟในยุคนั้น แอบซุ่มอยู่หลังต้นโพธิ์ แล้วเล็งปืนนกสับไปที่ญาณพิเชียร โดน “ขุนโกหก” หัวหน้ากบฏฟุบลงกับคอช้าง ฝ่ายกบฏเห็นเข้าก็ตกใจขวัญกระเจิง แตกพ่ายกันไปคนละทิศละทาง
พระยาสีหราชเดโชได้นำตัวอมรวดี ชาวต่างชาติแม่นปืนชื่อไพเราะ เข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้พระราชทานรางวัลให้อมรวดีเป็นจำนวนมาก และรับสั่งให้ข้าหลวงไปติดตามกวาดจับพวกกบฏมาให้หมด แต่ด้วยทรงทศพิธราชธรรม เห็นว่าชาวบ้านเหล่านั้นถูก “ขุนโกหก” ปั่นหัวด้วยข้อมูลเท็จทำให้หลงผิด จึงไม่ได้ลงพระราชอาญา แต่ให้สักหมายเข้าหมู่ไว้ เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำซากอีก
ประวัติศาสตร์เรื่องนี้บอกว่า มี “ขุนโกหก” มาแต่โบราณ เมื่ออยากจะเป็นใหญ่แต่ไม่มีความจริงอันใดที่จะทำให้ผู้คนยกย่องชื่นชมมาเป็น “เบี้ย” ให้ได้ ก็ต้องใช้ข้อมูลเท็จปลุกปั่น พร้อมทั้งทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยความเท็จอีกเช่นกัน ในที่สุดทั้งขุนและเบี้ยก็ต้องรับโทษไปตามระเบียบ เพราะทำกรรมอะไรไว้ ผลของกรรมก็ต้องตอบสนอง ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์จึงต้องซ้ำรอย