ถาวร ชี้ ราคายางตกหนักเหลือ40บาทต่อกิโลกรัม ขอนายกฯเด็ดขาด สั่งหน่วยงานรัฐนำไปใช้
นายถาวร เสนเนียมแกนนำกปปส. โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คระบุว่า เสร็จจากงานเศร้าโศกเสียใจเรามาค้นหาสาเหตุความเดือดร้อนของชาวสวนยางพาราและหาวิธีการแก้ไขให้พี่น้องเกษตรกร ผมขอนำเสนอสภาพปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ดังต่อไปนี้
ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีราคายางตกต่ำ
1. สภาพปัญหาและข้อเท็จจริง ช่วง 3 เดือนแรกของต้นปี 2560 ราคายางได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งแต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่รักษาระดับราคาเอาไว้ได้เลย จนปัจจุบันถือว่าต่ำมากเกษตรกรชาวสวนยางขายยางแผ่นดิบได้ที่ 40 บาท/กก. เศษ เท่านั้นในขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 60 บาท/กก. เศษ และกำลังจะถอยลงเรื่อยๆ จนเกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน ซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างน่าเป็นห่วง ในขณะที่อุปสงค์ อุปทาน ถือว่ายังปกติและตามประมาณการของ IRSG ยังมีปริมาณการใช้ยังสูงกว่าปริมาณการผลิตเสียด้วยซ้ำ
2. สาเหตุของปัญหา สาเหตุของปัญหาที่ทำให้ราคายางตกต่ำลงไดขนาดนี้พอประมวลได้ดังนี้
2.1 ปริมาณยางมีในสต๊อกผู้ใช้สูงเนื่องจากช่วงต้นปีราคาปรับขึ้นสูงมีผู้ส่งออกหลายรายไปขายยางในตลาดล่วงหน้า (future market) แล้วใช้วิธีส่งมอบยางจริงซึ่งอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ปีนี้ ทำให้ยางไม่ขาดแคลนผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อยางเข้าสต๊อกในขณะนี้
2.2 ผู้ประกอบการขายยางล่วงหน้าไว้ในประมาณที่มากและราคาไม่สูงจึงต้องออกมาซื้อในราคาที่ไม่ให้สูงกว่าต้นทุนขาย
2.3 บริษัทร่วมทุนที่รัฐบาล โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการกิจการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการ โดยการเข้าซื้อยางตลาดกลางของรัฐบาลทั้ง 6 ตลาด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา หนองคาย และบุรีรัมย์ จนทำให้ยางแผ่นรมควันที่ซื้อไว้เป็นหมื่นตันบางส่วนเกิดความเสียหายเนื่องจากไม่ได้ขนยางไปดำเนินการหีบห่อที่ถูกต้องทำให้ยางค้างอยู่ในตลาดกลางกินพื้นที่ของตลาดจนไม่สามารถดำเนินการการเปิดตลาดได้ต้องปิดตลาดทำให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่สามารถนำยางมาขายได้และถูกพ่อค้านอกตลาดกดราคาในที่สุดดังที่เป็นอยู่ขณะนี้
2.4 ความเอาใจใส่ของรัฐบาลไม่จริงจัง หวังพึ่งพาเพียงจากการดำเนินการของบริษัทร่วมทุนฯ และไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทผู้มาร่วมทุนซึ่งไม่ได้เต็มใจมาตั้งแต่ต้นจึงวางหมากเกมส์ไม่ยอมรับยางเข้าบริษัทดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อจะได้ดักตัดซื้อราคาต่ำและรัฐบาลไม่มีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมทำให้สถานการณ์ด้านราคายางแย่ลงไปเรื่อยๆ
3. แนวทางการแก้ไข ผมในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและชาวบ้านทั่วไปรับทราบและเข้าใจปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอดรู้สึกอึดอัดกับแนวทางการแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาล และจะขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาล ดังนี้
3.1 ทบทวนบทบาทหน้าที่และโครงสร้างองค์กรของบริษัทร่วมทุนฯ เสียใหม่เพื่อให้สนองตอบโจทย์ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง
3.2 ควรนำผลการประชุมของบริษัทร่วมทุน 3 ประเทศ (ITRC) ระดับรัฐมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อ 15 กันยายน 2560 มาเข้าสู่โหมดของการปฏิบัติ ในเรื่องการควบคุมการส่งออก และอื่นๆ
3.3 กองการยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รมว. เกษตรฯ ต้องสร้างบทบาทในฐานะผู้รับผิดชอบ พรบ. ควบคุมยางปี 2542 ออกมาควบคุมราคาส่งออกยางของพ่อค้าที่แข่งกันเสนอขายไปต่างประเทศในราคาต่ำ ๆ แล้วมากดราคาซื้อจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางโดยอ้างราคาตลาดโลก
3.4 ควรขยายโครงการที่ช่วยดูดซับยางพาราออกจากตลาด ดังที่ดำเนินการกับสมาคมน้ำยางข้นไทยอยู่ขณะนี้ให้ครอบคลุมถึงยางแห้งด้วยเพราะลำพังปริมาณน้ำยางข้นมีเพียง 20% ของผลผลิตเท่านั้นคงไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
3.5 โครงการเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศไม่เป็นรูปธรรม ท่านนายกรัฐมนตรีควรลงมาขันน็อตหลาย ๆ รอบ และควรตั้งเป็นคณะทำงานติดตามรายงานผลความคืบหน้าตลอดเวลา เพราะเหตุว่าที่ผ่านมามีแต่มติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานนำยางพาราไปใช้ แต่มีแต่มติอยู่ในกระดาษเท่านั้น หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีความจริงใจและจริงจังในการนำยางพาราไปใช้ ถ้านายกรัฐมนตรียังไม่ใช้สภาพบังคับลงโทษหน่วยงานที่เพิกเฉยก็จะเป็นสภาพการอย่างนี้ตลอดไป จึงขอให้นายกใช้ความเด็ดขาดในการสั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้นำยางพาราไปใช้อย่างจริงจัง โดยกำหนดเชิงปริมาณ จำนวนงบประมาณและกรอบเวลา ผมขอชื่นชมกรมทางหลวงแผ่นดินที่อธิบดีกรมทางหลวงได้ร่วมกับสหกรณ์บ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนประกอบทำเสาหลักกิโลเมตร โดยการประสานของพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่มีน้ำใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและช่วยขับเคลื่อนให้นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีสำเร็จ ผมขอขอบคุณ
สำนักข่าววิหคนิวส์