กรณี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ของบริษัทโอเอ ที่ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาเป็นบริษัทของคนจีนมีการขายสินค้าราคาแพง มีการกระทำเป็นอั้งยี่ และมีความผิดตามกฏหมายฟอกเงินกำลังเป็นเรื่องซึมลึก และกลายเป็นดังโรคซึมเศร้า ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ขณะนี้ทีเดียว
เรื่องนี้มีเดิมพันไม่น้อยต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลของ Mastercard 2017 ที่จัดอันดับกรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดเป็นอันดับแรกถึง 20.2 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี พ.ศ. 2559 อยู่ที่ 1.64 ล้านล้านบาทเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2558 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.64
ที่ว่าเป็นเรื่องซึมลึกคือ ผลกระทบจากคดีดังกล่าวนี้กำลังถูกมองอนาคตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นมากน้อยแค่ไหนกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นชาวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุด และมีการใช้จ่ายเงินต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอื่น ๆ เรื่องจากข้อกล่าวหาทัวร์ศูนย์เหรียญนี้เอง ชะงักและลดการท่องเที่ยวชาวจีนลงไปอย่างผิดหูผิดตาทีเดียวมันหมายถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเป็นสัดส่วนที่ลดลงไปอย่างน่าจะรู้สึกได้ แต่เรื่องอันชวนซึมเศร้าคือ ข้อกล่าวหาของฝ่ายตำรวจที่เข้าทำการจับกุมบริษัทโอเอทัวร์ศูนย์เหรียญที่ว่านี้ ถึงกับมีการฟ้องร้องต่อศาลเกิดขึ้นกลับปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องข้อกล่าวหาเหล่านั้นที่สำคัญมากคือ ข้อกล่าวหามีการกระทำเป็นอั้งยี่ ข้อกล่าวหาข้อนี้เองที่กลายเป็นเรื่องซึมเศร้าไปทั่ววงการธุรกิจท่องเที่ยวว่ามันเป็นการกระทำอั้งยี่ไปได้ยังไง ขนหัวลุกมาตั้งแต่ได้ยินข้อกล่าวหาแล้วกระมัง
ผลอันเกิดขึ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าวเหล่านี้คือ ตำรวจท่องเที่ยวได้ขอให้ ปปง. อายัดทรัพย์สินของบริษัทโอเอกว่าหมื่นล้านบาท รถทัวร์กว่า 1,000 คัน ถูกอายัดไว้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งที่กฏหมาย ปปง.ให้อำนาจเพียง 90 วัน สินค้าจำนวนหนึ่งถูกนำไปขายทอดตลาด เจ้าของธุรกิจทั้งสามีและภรรยากับลูกอีกสองคนถูกตำรวจจับจำคุก 4-5 เดือน ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้วเหตุเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่สิ่งที่เกิดตามมาหลังคำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้นนี้ เรายังได้เห็นมาตรการของภาครัฐต่อธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นเรื่องน่าสนใจติดตามต่อมาคือ ในข้อที่ฝ่ายตำรวจได้อุทธรณ์กรณีการฟ้องร้องบริษัทโอเอต่อศาล ในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี จึงเข้าข่ายมูลฐานความผิดของกฏหมาย ปปง. (ขอให้สังเกตนะครับว่าไม่มีข้อกล่าวหาในการมีการกระทำเป็นอั้งยี่อีก) ตำรวจได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทลูก 29 บริษัทของบริษัทโอเอ น่าสนใจยิ่งกว่านี้ก็คือ การยกระดับงานของตำรวจเป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวเสียด้วย
เมื่อความผิดจากข้อกล่าวหา ไม่เป็นที่ประจักษ์จนศาลชั้นต้นยกฟ้อง ความเสียหายของบริษัทโอเอจากข้อกล่าวหาก็เป็นหายนะของบริษัทที่แน่ชัดขึ้น จากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าดำเนินการจับกุม ผลต่อเนื่องตามมาคือ อาการอันชะงักงันของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดฮวบลงไปอย่างรู้สึกมองเห็นได้ในทันที และแน่ละมันมีผลกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระดับมหภาคอย่างน่าคิดคำนึงกันทีเดียว
ความห่วงใยจากผลกระทบอันจะเกิดกับการท่องเที่ยวของไทยนี้ ดูจะเป็นข้อกังวลที่ตระหนักอยู่ในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยขณะนี้อยู่ในวงกว้าง นักวิชาการท่านหนึ่งที่ดูจะเป็นห่วงกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อยู่มากคือ รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเข้าหูใครให้ได้ยิน ได้รับรู้ และจะตระหนักถึงผลอันจักบังเกิดขึ้นหรือไม่เพียงไร
ความเป็นห่วงกังวลของสังศิต พิริยะรังสรรค์ นี้น่าสนใจมากนะครับ หากใครได้ติดตามเรื่องนี้แต่ต้นตลอดมาหลายทัศนะของเขา น่าช่วยนำไปคิดและทบทวนนโยบายในเรื่องการบริหารจัดการกับธุรกิจท่องเที่ยวของบ้านเราอยู่มาก การเข้าจับกุมด้วยข้อหาร้ายแรงหลายประเด็นที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น บอกอะไรหลายอย่างกับการทำธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศกับผู้ประกอบการขณะนี้ สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่ารับฟังถ่ายทอดมาบอกกล่าวกันอย่างนี้ครับ
“ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกสมาคมท่องเที่ยวและอดีตนายกสมาคมจิวเวลรี่ กับนักธุรกิจด้านท่องเที่ยว พวกเขามองว่า….
1. นโยบายตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวของรัฐบาลอาจก่อปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่าประโยชน์ที่จะได้ เพราะต้นทุนด้านธุรกรรม (Transaction cost) ในการทำธุรกิจไม่มีใบเสร็จ จะสูงขึ้นและพวกเขาอาจต้องผลักภาระไปให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแทน
2. นักธุรกิจรู้สึกสับสนกับการทำธุรกิจในอนาคตว่า ควรวางตัวอย่างไร ? การเป็นอั้งยี่เป็นอย่างไร ? การฟอกเงินหมายความว่าอะไร พวกเขาเกรงว่าถึงแม้ว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ถ้าหากตำรวจ และ ปปง. สามารถอายัดทรัพย์สินของพวกเขาต่อไปได้ เขาจะเสี่ยงลงทุนทำธุรกิจต่อไปเพื่ออะไร
3. พวกเขาเห็นว่า รัฐบาลควรทบทวนนโยายด้านการท่องเที่ยวใหม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัทโอเอ คือ บริษัทแรกสุดของคนไทยที่ไปดึงนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล หากต้องถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาจะต้องทำธุรกิจบนความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้จากนโยบายของรัฐบาล และตำรวจท่องเที่ยว
4. นักท่องเที่ยวมองว่า รัฐบาลอยากได้นักท่องเที่ยวต่างชาติแต่กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางส่วน ตระเวนเก็บส่วยจากนักธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป
5. เพื่อหาทางควบคุม รัฐบาล นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ให้ใช้กฏหมายฟอกเงิน รังแกบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลและใช้กฏหมายฉบับนี้ไปกดขี่ข่มเหงธุรกิจที่แข่งขันกับธุรกิจที่เป็นพวกพ้องของรัฐบาล และนักการเมืองที่ทรงอิทธิพล ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สำนักงาน ปปง. ไปสังกัดที่กระทรวงการคลัง
ข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานนี้ ควรใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชีให้มากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดกฏหมาย หากพบแล้วให้ ปปง.ส่งข้อมูลเบื้องต้นให้หน่วยงาน ดีเอสไอ ส่งให้สำนักงานอัยการพิจารณาเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป (ยกเว้นกรณีที่เป็นการฟอกเงินของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และยาเสพติดอาจอายัดไว้ก่อนเพื่อรอการพิสูจน์) และเมื่อศาลได้วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำฟอกเงินจริงจึงให้ ปปง.อายัดทรัพย์ เพื่อให้จำเลยต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
เนื่องจากกฏหมาย ปปง.มีความร้ายแรงมาก ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบ จึงต้องอยู่ในมือรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบและไม่มีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตเพื่อตัวเอง และพวกพ้อง”
ผมว่าความคิดเห็นของสังศิต พิริยะรังสรรค์ มีประเด็นน่าสนใจมากต่อการปรับปรุง ทั้งในแง่กฏหมาย กฏเกม และแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ภาครัฐโปรดกรุณาอย่าไขสือ หนวกบอดใบ้ไม่รู้ไม่เห็นไม่ฟังใครกันอยู่เลย.
เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์
คอลัมน์มิติโลกาภิวัฒน์
ไทยโพสต์ หน้า 8-9 ต.ค. 60
สำนักข่าววิหคนิวส์