กกพ.เตรียมจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนถึงแนวทางการปรับค่าเอฟที งวดใหม่ ( ก.ย.-ธ.ค.65 ) 3 ราคา โดยไล่ตั้งแต่ขึ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ไปจนถึง 1.14 บาทต่อหน่วย “กฟผ.”เผยแบกภาระรวมแล้ว 1 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้กกพ. เตรียมจัดรับฟังความเห็นประชาชน เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65 ) ผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th โดยนับเป็นครั้งแรกของประเทศ ที่เปิดรับฟังให้ประชาชนร่วมคิดเห็นทางเลือก ค่าไฟฟ้าเอฟที 3 ราคา จากเดิมที่จะมีการสรุป ค่าเอฟทีเพียงราคาเดียวโดยคำนวณจากต้นทุนเชื้อเพลิงและหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่แบกรับภาระไว้รวมระดับแสนล้านบาทประกอบจึงวางแผนทยอยคืนหนี้เป็นเวลา 1-2 ปี ดังนี้
1. ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ค่าเอฟทีเรียกเก็บจะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ค่อหน่วย ขึ้นจากงวดที่แล้ว ( พ.ค.-ส.ค.65 ) 68.66 สตางค์ต่อหน่วย 2.การขึ้นตามต้นทุนแท้จริง และมีการทยอยคืนเงินแก่ กฟผ.วงเงินเบื้องต้น 83,010 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี (ทยอยปรับในค่าเอฟที 3 งวด งวดละ 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ) ทำให้ค่าเอฟทีงวดนี้เรียกเก็บ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว ( พ.ค.-ส.ค.65 ) 114.36 สตางค์ต่อหน่วย
3.การขึ้นตามต้นที่แท้จริงและทยอยคืนเงินแก่ กฟผ.วงเงินเบื้องต้น 83,010 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี (ทยอยปรับในค่าเอฟที 6 งวด งวดละ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ) ทำให้ค่าเอฟทีงวดนี้เรียกเก็บ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว ( พ.ค.-ส.ค.65 ) 91.51 สตางค์ต่อหน่วย
“ค่าไฟฟ้าเอฟที งวดใหม่ ( ก.ย.-ธ.ค.65 )เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานแล้วก็คาดว่าจะสร้างสถิติสูงสุดที่ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย”แหล่งข่าวกล่าว
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่ากฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้า ตั้งแต่งวด 3/64 ( ก.ย.-ธ.ค..64) และร่วมรับภาระเรื่อยมาในงวด 1/65 (ม.ค.-เม.ย.) และงวด2/65(พ.ค.-ส.ค.) เป็นเงินรวมกับอัตราดอกเบี้ยที่กู้เสริมสภาพพคล่อง แล้วราว 1 แสนล้านบาท กฟผ.จึงได้แจ้งต่อ กกพ.ไม่สามารถร่วมรับภาระในเอฟทีงวด3/65 ได้อีก ส่วนการชำระคืนเงินแก่ กฟผ.ก็แล้วแต่ กกพ.พิจารณาว่าจะกำหนดช่วงเวลาคืน 1 ปีหรือ 2 ปี
“วงเงินช่วยเหลือเอฟที 1 แสนล้านบาท ก็มีผลต่อสภาพคล่องของ กฟผ. เช่น ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถนำเข้าแอลเอ็นจีตามแผนงานได้ และมีผลกระทบด้านอื่นๆ แต่ยืนยันไม่กระทบต่อการลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่งเพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อเงินเดือนของพนักงานแต่อย่างใด”ผู้ว่ากฟผ.กล่าว