วันที่ 15 เมษายน 2564 มีรายงานจากกลุ่มบรรเทาทุกข์กะเหรี่ยง ในพื้นที่แม่น้ำสาละวิน พรมแดนไทยพม่า ด้าน อ.สบเมย และอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ว่าขณะนี้จำนวนผู้หนีภัยจากการโจมตีทางอากาศของทหารพม่าในรัฐกะเหรี่ยง ที่ข้ามแม่น้ำสาละวินมาอาศัยพักพิงชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยในพื้นที่ฝั่งไทย
มีทั้งหมด 2 จุด ได้แก่พื้นที่ราท่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน โดยเป็นผู้หนีภัยมาจากหมู่บ้านแพท่า และบ้านรวมสะกอท่า รวมเป็น 41 ครัวเรือน จำนวน 229 คน และเป็นผู้หนีภัยที่มาจากราท่า (ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง) และหมู่บ้านใกล้เคียงทั้งหมด 57 ครัวเรือน จำนวน 384 คน และจุดที่สองคือพื้นที่โหน่ปะหน่า อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเช่นเดียวกัน มีผู้หนีภัย 365 ครัวเรือน จำนวน 2,020 คน รวมจำนวนผู้หนีภัยทั้งหมด 2,633 คน
กลุ่มบรรเทาทุกข์กะเหรี่ยง ระบุว่าตัวเลขผู้หนีภัยสงครามตอนนี้เฉพาะตลอดแนวสองฝั่งสาละวิน ทั้งฝั่งรัฐกะเหรี่ยง เขตมือตรอ กองพล 5 ของสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และฝั่งไทย ตั้งแต่บ้านสบเมย จนถึงสุดชายแดน มีจำนวนราว 7,000 พันคน และยังมีผู้หนีภัยสงครามที่หนีการโจมตีของกองทัพพม่าทั้งทางบกและทางอากาศ อยู่ภายในรัฐกะเหรี่ยงกองพล 5 อีก มีไม่ต่ำกว่า 15,000 คน ซึ่งผู้หนีภัยสงครามจากรัฐกะเหรี่ยงเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทยอยอพยพ หนีออกมายังชายแดนไทยเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์การโจมตีจากกองทัพพม่ายังไม่ยุติจึงไม่มีความปลอดภัย
“ตอนนี้มีฝนตกในบริเวณที่ชาวบ้านหนีภัยแทบทุกวัน ทำให้ลำบากกันมากเพราะบางส่วนยังไม่มีเตนท์หรือผ้าใบเพียงพอ ทำให้ต้องตากฝน ความเป็นอยู่ก็ลำบากมาก และความช่วยเหลือต่างๆ ยังไม่สามารถส่งไปถึงอย่างทั่วถึง”เจ้าหน้าที่กลุ่มบรรเทาทุกข์รายหนึ่ง กล่าว
ชาวบ้านกะเหรี่ยงรายหนึ่งซึ่งหนีภัยมายังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ให้สัมภาษณ์ว่า มาจากหมู่บ้านสะคอท่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับฐานทหารพม่าและเป็นช่วงที่ทหารพม่าต้องส่งเสบียงอาหาร แล้วพวกเขาก็พยายามจัดการ ปกติแล้วทหารพม่าจะส่งเสบียงอาหารมาจากพรมแดนรัฐคะเรนนี มาทางผาซอง แต่ช่วงนี้เรือแถวผาซอง ในรัฐคะเรนนี ไม่กล้าล่องแม่น้ำสาละวินมาส่งเสบียง ทหารพม่าจึงมาหาเรือในพื้นที่บ้านแพท่า และสะคอท่า แต่พวกตนไม่ยอมมาส่งเสบียงให้ทำให้ผู้บังคับกองร้อยทหารพม่ามาเจรจากับผู้ใหญ่บ้านให้จัดการเรื่องนี้ให้ได้ แต่ผู้ใหญ่บ้านปฏิเสธและดึงเวลาจนกระทั่งผู้บังคับกองร้อยทหารพม่าส่งเรื่องให้ผู้บังคับกองพันทหารพม่าช่วยมาจัดการ ผู้บังคับกองพันทหารพม่าจึงสั่งผู้ใหญ่บ้าน และแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าชาวบ้านที่อยู่ที่นี่อยู่ใกล้ฐานทหารพม่าอยู่ในพื้นที่ควบคุมของทางพม่า ดังนั้นชาวบ้านจะต้องช่วยทหารพม่าจัดการเรื่องนี้ ในช่วงนั้นผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนจึงหารือและตัดสินใจเริ่มหนีออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านลูกหลานบางส่วนจึงเริ่มกระจายตัวออกมาจากหมู่บ้าน สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือเครื่องบินของกองทัพพม่า ซึ่งส่งเครื่องบินมาลาดตระเวนในพื้นที่หมู่บ้านและมีข่าวการทิ้งระเบิดโจมตีในรัฐกะเหรี่ยงหลายแห่ง
“ทหารพม่าที่เข้ามาตั้งฐานอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว กลัวว่าทหารพม่าจะบังคับใช้แรงงาน บังคับให้ชาวบ้านขนส่งข้าวสารและเสบียงให้ พวกเราตัดสินใจจึงหนีออกมา สิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวบ้านตอนนี้คืออาหาร และยารักษาโรค เรามาอยู่ชั่วคราวแบบนี้ เด็กเล็กๆ และผู้สูงอายุ ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ ค่อนข้างลำบาก ดื่มน้ำสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ตอนนี้ยังไม่มีทหารไทยที่จะบังคับให้พวกเรากลับ เรามาอาศัยหนีภัยชั่วคราว ในอนาคตถ้าสถานการณ์ปกติเราก็อยากกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านของเรา แต่ตอนนี้เรายังกลับไม่ได้” ชาวบ้านกะเหรี่ยงกล่าว
ขณะที่แม่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยมายังริมแม่น้ำสาละวิน กล่าวว่า ครอบครัวของตน มีหลาน 3 คน เป็นฝาแฝด อายุ 1 ขวบกว่า ถ้าถามว่าต้องการอะไร ตอนนี้เราไม่มีอะไรมาเลย ข้าวสารก็ไม่มีแล้ว นมสำหรับหลานๆ ก็หมดไปแล้ว ถ้ามีงานรับจ้าง เราก็คงไปรับจ้าง คงพอซื้อนมให้ได้ แต่สถานการณ์แบบนี้ไปรับจ้างอะไรไม่ได้เลย เรื่องสุขภาพตนเองก็ป่วยตลอด เวียนหัวบ่อยๆ ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่หนีมา ทหารพม่ายิงปืนใหญ่ลงมาใกล้ๆ แต่ยังไม่ลงในหมู่บ้านเรา