กสม.จี้ กอ.รมน “เลิก-ปรับวิธี” เยี่ยมบ้านเป้าหมายความมั่นคง ชี้ละเมิดสิทธิส่วนตัว
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปรายงานการตรวจสอบกรณีคลิปหญิงมุสลิมมีปากเสียงกับทหารพราน ขณะกำลังเข้าตรวจค้นบ้าน โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นบ่อยเกินไป จนรบกวนการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข และทำให้คนในบ้านซึ่งมีคนชราและเด็กเล็กหวาดกลัว
คลิปนี้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบ่อทอง หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ผู้หญิงในคลิปที่มีปากเสียงกับทหาร คือ น.ส.ยู ซึ่งเป็นภรรยาของ นายมูฮัมหมัดฟิตรี เจ๊ะฮะ อดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เจ้าหน้าที่ทหารพรานต้องการตัว โดยคลิปถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.65 อ้างว่าทนไม่ไหวที่เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นและถามคำถามเดิมซ้ำๆ 3 วันติดต่อกัน ทั้งๆ ที่ นายมูฮัมหมัดฟิตรี ก็ไม่อยู่บ้าน และไม่ได้กลับมาที่บ้านนานมากแล้ว
@@ กสม.สอบข้อเท็จจริง 2 ฝ่าย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว และได้แถลงข่าวโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ ผู้ร้องซึ่งอาศัยอยู่ใน จ.ปัตตานี มีความกังวลจากการที่เจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4202 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 เข้าตรวจเยี่ยมบ้านพักและสอบถามถึงสามีของผู้ร้อง เนื่องจากสามีของผู้ร้องเคยตกเป็นจำเลยในคดีวางระเบิดห้างสรรพสินค้าใน จ.ปัตตานี
แม้ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง และสามีของผู้ร้องได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่ทหารได้มาที่บ้านหลายครั้ง จนทำให้สามีของผู้ร้องเกิดความหวาดกลัว จึงเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ทหารยังมาที่บ้านของผู้ร้องอีกหลายครั้ง เพื่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ พร้อมทั้งถ่ายรูป จนทำให้ผู้ร้องและครอบครัวเกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัว
เรื่องนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การเข้าตรวจค้นและการเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเครือญาติของบุคคลเป้าหมายเพื่อสอบถามข้อมูล เป็นนโยบายของหน่วย ซึ่งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะแสดงตน แจ้งสังกัด รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมเยียน และมีการลงบันทึกการตรวจเยี่ยมทุกครั้ง
ส่วนกรณีการไปพบปะที่บ้านเพื่อเยี่ยมเยียนบุคคลที่เคยถูกจับกุมและพ้นโทษแล้ว เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยใช้ชุดจรยุทธ์ในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ
@@ ชี้ จนท.กระทำไม่เหมาะสม – ละเมิดความเป็นส่วนตัว
ต่อมา กสม.ได้ประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้ การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 ที่ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการไว้เช่นเดียวกัน
กรณีตามคำร้องแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า การที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปพบผู้ร้องที่บ้านพักเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ เพื่อวัตถุประสงค์อันเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือการป้องกันอาชญากรรม แต่การดำเนินมาตรการนั้นจะต้องยึดหลักความได้สัดส่วนระหว่างการดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ กับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการแทรกแซงหรือการรุกล้ำสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องและครอบครัวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสามีผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมาย มิได้พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว แต่การที่เจ้าหน้าที่ไปพบผู้ร้องที่บ้านตั้งแต่ปี 2559–2564 หลายสิบครั้ง โดยที่ผู้ร้องไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และบางครั้งมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวในลักษณะติดตามตรวจสอบ
และเมื่อพิจารณาถึงครอบครัวของผู้ร้องที่มีแต่ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็กแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด พร้อมอาวุธครบมือไปพบที่บ้านพัก ย่อมสร้างความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้กับครอบครัวของผู้ร้อง มีผลทำให้ผู้ร้องและครอบครัวใช้ชีวิตโดยไม่ปกติสุข
การกระทำของเจ้าหน้าที่กรณีนี้จึงไม่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่ระบุให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิทธิมนุษยชน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวในการอยู่หรือพักอาศัย (Territorial Privacy) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
@@ เสนอ 3 ข้อ กอ.รมน.ปรับนโยบาย-วิธีปฏิบัติ
ในการนี้ จึงเห็นควรมีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวคือ
1.ควรยกเลิกแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ให้หน่วยทหารในพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของเครือญาติ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
2.ควรปรับปรุงแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการเข้าตรวจเยี่ยมเครือญาติของบุคคลเป้าหมายที่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้มีความเหมาะสม ได้สัดส่วน และลดผลกระทบที่จะเกิดกับเครือญาติกลุ่มเป้าหมายในสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว โดยร่วมมือกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ในการเข้าตรวจเยี่ยมร่วมกัน และดำเนินการให้เหมาะสม เช่น หากครอบครัวใดมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กพักอาศัยอยู่ในบ้าน ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงเข้าตรวจเยี่ยมด้วย เป็นต้น
3.ควรเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวทางปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับประชาชน ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในรูปแบบและภาษาที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการลดปัญหาผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
ขอบคุณที่มา Isranews สำนักข่าวอิศรา