ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #“กห.”เปิดแผนตั้งศูนย์ซ่อมอาวุธไทย-จีนตั้งโรงซ่อม-คลังอะไหล่

#“กห.”เปิดแผนตั้งศูนย์ซ่อมอาวุธไทย-จีนตั้งโรงซ่อม-คลังอะไหล่

31 December 2017
911   0

“กห.”เปิดแผนตั้งศูนย์ซ่อมอาวุธไทย-จีนตั้งโรงซ่อม-คลังอะไหล่ รถถัง VT-4 รถเกราะ VN-1 ซ่อมรถสายพานเก่า T- 85 ที่ “ขอนแก่น-โคราช” แก้กม.เอื้อผลิตเพื่อขาย– ให้บีโอไอ

สยามรัฐ – วันที่ 30 ธันวาคม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าในนโยบายเสริมสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศว่า มีความคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะกับประเทศจีน และได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย และจีน พิจารณาแนวทางการจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ และแนวทางการดำเนินการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ขณะนี้ตกลงกันในการซ่อมบำรุงขั้นต้น และจัดตั้งคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อมที่สำคัญๆ สำหรับรถถัง VT-4 รถสายพานลำเลียงพล VN-1 รวมทั้งซ่อมบำรุงรถสายพานลำเลียงพล T-85 ที่มีใช้ในกองทัพบก เมื่อพูดคุยกับกระทรวงกลาโหมจีนแล้วได้ให้ไทยเสนอแผนงานที่เขาต้องสนับสนุน และปลาย ก.ย.60 ที่ผ่านมาได้กำหนดรูปแบบในการจัดตั้งโรงงานขึ้นมาโดยมีผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เข้ามาร่วมให้ข้อมูลด้วย เพราะทั้งหมดต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ปี 2542 ซึ่งกำหนดให้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ถือหุ้น 51% สำหรับเงินที่จะใช้ในการจัดตั้งจะจัดสรรจากงบประมาณที่จัดสรรจากรัฐบาล หรือ จากงบฯที่ภาคเอกชนระดมทุนร่วมกัน อีก 49 % จะเป็นของจีน ซึ่งอาจจะเป็นบริษัท โนรินโก้ หรือ บริษัทที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลจีนกำหนดขึ้นมา

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม ได้กำหนดแผนงานไว้ 3 ระยะด้วยกัน 1.ระยะสั้นคือ ปี 2560-2564 ก็จะมีการจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงสนับสนุนโดยตรง ให้กับรถถัง ม.พัน 6 ที่จังหวัดขอนแก่น และ จัดตั้งคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และ ซ่อมบำรุงรถสายพานลำเลียง T-85 ของกองทัพบก อีก 80 คัน โดยจะดำเนินการให้เสร็จในปี 2562 สำหรับระยะกลางคือปี 2565-2569 จะจัดตั้งโรงซ่อมยุทโธปกรณ์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีตามแผนการลงทุนไทย – จีน และในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2570 จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนในการร่วมดำเนินการมากขึ้น ถือว่าภาพรวมของงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการที่ผ่านการวิจัย เช่นกล้องตรวจการณ์เวลากลางคืน อากาศยานไร้คนขับ เสื้อเกราะกันกระสุน การผลิตกระสุนปืนใหญ่ ที่ผ่านการวิจัยเพื่อมาพัฒนาผลิตสู่การใช้งานจริง ถือเป็นภาพรวมในส่วนที่เราเดินหน้าไปมากกับจีน

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จะมีภาคเอกชนเป็นสมาชิกได้ดำเนินการกับภาครัฐมานานแล้ว ซึ่งพร้อมจะเข้ามาระดมทุนเข้ามาร่วมผลิต หรือเป็นตัวแทนให้กับภาครัฐ นำไปสู่การดำเนินการในระยะสุดท้าย ที่ต้องการให้ พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่กำลังร่างอยู่ทำให้ภาคเอกชนแข็งแรงและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง จากกฎหมายตัวเดิมที่ไม่สามารถตอบสนองในเรื่องการผลิตไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยกระทรวงกลาโหม ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการคลัง ว่าต้องปรับ สทป.เป็นองค์กรมหาชน การพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปการลงทุนด้านนี้ก็จะเหมือนกับต่างประเทศ หรือ ทางจีนที่ใช้บริษัทเอกชนที่เป็นผู้แทนรัฐบาลในการลงทุน การคัดเลือกจะพิจารณาจากเอกชนที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านต่างๆ

“จะเห็นได้ว่าเฟสแรกเป็นการขอต่อรองเพิ่มเติมจากการจัดหาทั้งศูนย์ซ่อมที่ขอนแก่น และ คลังสะสมอะไหล่ที่โคราชของรถถังจีน วีที-4 จะเห็นได้ว่าในอดีตเราซื้ออะไรมา เราซื้ออย่างเดียว ไม่ได้กำหนดอะไร พอมารัฐบาลปัจจุบันก็บอกว่าซื้ออย่างเดียวไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ประกอบจากข้างนอกมาก่อน 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 40 เปอร์เซ็นต์ต้องมาประกอบข้างใน และที่เหลือต้องมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเรา ไม่ใช้ซื้อแล้วยกมาทั้งหมด นอกจากนั้น ในส่วนประเทศอื่นก็มีความร่วมมือทางเทคนิคทางทหารกับ รัสเซีย ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ สำหรับยูเครน ก็อยากมาลงทุนร่วมกับเรา แต่เขายังไม่มีความพร้อม เนื่องจากมีปัญหาสงครามของเขา ทำให้สายการผลิตกับต่างประเทศไม่ได้ ในส่วนของตะวันออกกลาง อยากลงทุนเรื่องรถยนต์บรรทุกทางทหาร ขณะนี้ความสัมพันธ์เรากับประเทศต่างๆ ค่อนข้างดี”

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ไปศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลงทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เหมือนการลงทุนในเชิงพาณิชย์ด้วย เราก็จะผลักดันตรงนี้ไปควบคู่กับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทางบีโอไอก็จะต้องไปคุยเรื่องสิทธิประโยชน์กับคนที่จะเข้ามาลงทุนด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าแนวทางที่ทำอยู่นี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเดินต่อไปได้ เพราะไทยมีความได้เปรียบเรื่องภูมิยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางทางบอกในอาเซียน และ ประเทศรอบบ้านก็จะมีส่วนที่มีอาวุธจีนเข้าประจำการ การลงทุนครั้งนี้อาจจะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมในอาเซียนก็ได้ เรื่องนี้ถือว่าเป็นการริเริ่มนโยบายของพล.อ.ประวิตร ถือเป็นผลงานของท่าน การซื้ออาวุธต้องมีการลงนามในเอ็มโอยู เรื่องขั้นตอนการซื้อ การประกอบในประเทศไทย และ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี อะไหล่ซ่อมบำรุง

เมื่อถามว่า จะถือว่าเป็นการหมดยุคของค่าคอมมิชชั่นจัดซื้ออาวุธ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า จะใช้คำว่าว่าหมดยุคคอมมิชชั่น หมดยุคนายหน้า คงไม่ได้ เพราะตนไม่ทราบ แต่ พล.อ.ประวิตร ต้องการให้การจัดหาอาวุธผูกเรื่องผลประโยชน์ที่กองทัพได้รับ ต่อไปจะเป็นการซื้อตรงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล มีการต่อรองเพื่อขอให้เขาเข้ามาประกอบในไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งโรงงานซ่อมบำรุงร่วมกัน พัฒนาไปสู่ในเรื่องการร่วมผลิต

สำนักข่าววิหคนิวส์