จากกรณีกำลังพลที่บรรจุช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขึ้นไปชี้แจงข้อเท็จจริง ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ N 402 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เมื่อ 1 ก.ย. 2565 และภายหลังการประชุมได้มีการนำเสนอผลการประชุมผ่านสื่อมวลชนในประเด็นที่คลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการทหาร สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง
เพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและไม่นำประเด็นดังกล่าวไปสื่อสารขยายผลแสวงประโยชน์ที่อาจสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น จึงขอสรุปประเด็นสำคัญที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการไปแล้วเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันดังนี้
กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นหน่วยปฏิบัติงานหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับพื้นที่ โดยมีโครงสร้างการจัดและอัตรากำลังพลประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร แต่เนื่องจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นหน่วยเฉพาะกิจจึงไม่มีอัตรากำลังพลประจำอยู่ในโครงสร้างเหมือนกับหน่วยปกติ จึงมอบหมายให้หน่วยต่างๆ ในโครงสร้างทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร พิจารณาบรรจุกำลังพลช่วยราชการทั้งเป็นหน่วยและเป็นรายบุคคลตามคุณสมบัติและความรู้ความสามารถตามกรอบอัตรากำลังที่ได้กำหนดไว้เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการบรรจุช่วยราชการต่อไป
สำหรับกรณีการบรรจุ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นั้น ตรวจสอบแล้วพบว่าได้รับการบรรจุช่วยราชการที่หน่วย สขว.กอ.รมน.ภาค 4 สน. ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ตามคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 269/2565 ลง 7 เม.ย. 2565 ซึ่งการเข้ามาบรรจุดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องทุกประการกล่าวคือมีอัตราว่างให้สามารถบรรจุได้ทั้งพลเรือน ตำรวจและทหาร (อัตรา พตท.) โดยการมาบรรจุดังกล่าวเป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าตัวที่ได้สมัครใจมาช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ซึ่งหน่วยได้ตรวจสอบประวัติการรับราชการแล้วไม่พบคุณสมบัติที่ขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากหน่วยต้นสังกัดปกติเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำการขอตัวมาบรรจุช่วยราชการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 – 30 ก.ย. 2565 โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติด้านธุรการในระดับเจ้าหน้าที่ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนหน่วยในการปฏิบัติงานนอกพื้นที่ จชต. ที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
อย่างไรก็ตามภายหลังได้ทราบข่าวว่าได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันทีโดยพบว่า “เป็นการกระทำความผิดส่วนบุคคลโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. แต่อย่างใด” แต่เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้เพื่อควบคุมด้านวินัยกำลังพลที่บรรจุช่วยราชการโดยได้ละเมิดข้อห้ามเด็ดขาดของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประกอบกับเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา จึงได้ส่งตัวกลับหน่วยต้นสังกัดปกติตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2565 เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านวินัยและด้านกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการบรรจุช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ตามคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 733/2565 ลง 27 ส.ค. 2565 พร้อมกับให้เรียกคืนค่าตอบแทนตามสิทธิกำลังพลที่ได้รับไปแล้วตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ประกอบด้วย ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนและค่าเลี้ยงดูเพิ่มเติม ตามหลักฐานการเบิกจ่ายในห้วง ตั้งแต่ ต.ค. 2564 – 31 ก.ค. 2565 รวมจำนวน 109,910 บาท เพื่อส่งคืนให้กับทางราชการต่อไป ทั้งนี้ค่าตอบแทนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสิทธิกำลังพลด้านอื่นๆ เช่นวันทวีคูณและเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พสร.) เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้
จากที่ได้ชี้แจงทั้งหมดกล่าวโดยสรุปคือ ส.ต.ท.(ญ)กรศศิร์ บัวแย้ม ได้บรรจุช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ถูกต้องตามขั้นตอนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้วจึงทำให้ได้รับสิทธิกำลังพลตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ “มิใช่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วไม่ผ่านแต่ยังได้รับค่าตอบแทน”
สำหรับการสั่งยกเลิกบรรจุและเรียกคืนสิทธิกำลังพลที่ได้รับไปแล้วนั้นมีสาเหตุมาจากการถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง “มิใช่เพราะถูกต้นสังกัดสั่งให้ออกจากราชการ” จึงเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นไปตามที่ได้มีการให้สัมภาษณ์และนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขอยืนยันว่าได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการทหารได้ครบถ้วนในทุกประเด็นอย่างชัดแจ้งแล้ว สำหรับรายละเอียดที่ถูกต้องนั้นจะปรากฏในบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีใครที่จะสามารถแก้ไขหรือบิดเบือนได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ภาค 4 สน. พร้อมที่จะนำข้อสังเกตุและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ของคณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ไปปรับปรุงแก้ไขแนวทางดำเนินการของหน่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป