สยามรัฐ-เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวีแห่งใหม่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. กล่าวตอนหนึ่งในการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ว่า สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้จริงๆแล้วตนอยากบอกว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังคงมีประเด็นออกไป 2 แนวทาง คือจะแก้ไขในส่วนของมาตรา 256 ยกเว้นหมวดที่ 1-2 หรือจะแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว. ซึ่งการแก้ไขมาตรา 256 เหมือนเป็นการสับคัทเอาท์ แต่เนื่องจากบทเรียนตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปี 2550 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทั้งฉบับ ดังนั้นเพื่อจะได้มีภูมิต้านทานและลดการต่อต้านด้วยประการใดๆทั้งปวง หรืออาจแปรเจตนาไปในทางที่ผิดก็ยกเว้นหมวด 1 และ 2 เอาไว้ มาตรา 256 เป็นมาตราเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา 255 เป็นข้อห้ามที่เกี่ยวข้องจะ เปลี่ยนแปลงประเทศหรือระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะกระทำไม่ได้ แต่ที่เหลือนั้นต้องยึดอำนาจคืนมาจาก สมาชิกรัฐสภา จึงหมายความว่ามาตรา 256 ให้อำนาจส.ส.และส.ว.เกินครึ่งและถูกออกแบบให้ยากขึ้น เพราะว่า ที่เกินครึ่งนั้นจะต้อง มีเสียง ส.ว. 1ใน 3 คือ 84 คน ดังนั้นต้องยอมรับว่าหนทางยาวมาก
ส่วนมาตรา 272 นั้นเพื่อเป็นการตัดสวิตช์ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนที่เสนอแนวทางนี้ ประเมินว่าจะมีสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ โดยตนได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า หากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ทั้งมาตรา 256 และมาตรา 272 จะไม่ได้แก้ไขแม้แต่มาตราเดียว เพราะสุดท้ายรัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกฉีกตามเจตนา เนื่องจากมีการเขียนเงื่อนไขมากมายอยู่ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไข เพื่อให้แก้ไขได้ยาก ได้พูดมาตั้งแต่ตอนต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้เพื่อให้แก้ไขได้ แต่เป็นการเขียนไว้เพื่อส่งไม้ให้กับคณะรัฐประหารชุดใหม่
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการเมืองมานาน ติดตามสถานการณ์ หากสถานการณ์สุกงอมในวันที่ 19 กันยายนนี้ เชื่อว่าทั้งสองมาตรา จะไม่ได้รับการแก้ไข ผมไม่ได้หวงมาตรา 272 เรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะหากแก้ไขมาตรา 256 ก็เท่ากับทุบคัทเอาท์ทิ้ง แต่หมายความว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะไปทุกคัทเอาท์ทิ้งหรือจะปิดสวิตช์ ท้ายที่สุดคนจะมาพังหม้อแปลงขนาดใหญ่เสียก่อน ก็คือ การยึดอำนาจ และการยึดอำนาจในคราวนี้ คณะที่เตรียมการนั้นรออย่างใจจดใจจ่อ ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนต่างๆนั้นก็หาเหตุผลรองรับ เพราะในโลกสื่อสารไร้พรมแดนนั้นจะไม่ง่ายเหมือนในอดีตเนื่องจากทุกคนเป็นเจ้าของสื่อ หากยังไม่สามารถควบคุมการสื่อสารได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้นจะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับประเทศตุรกี ใช้ Facebook จัดการกับคณะรัฐประหารได้อย่างราบคาบ แต่อย่างไรก็ตามตัวเลือกในการทำรัฐประหารในประเทศไทยนั้นไม่เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการไปปิดสื่อแม้กระทั่งการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีก เพราะประชาชนมีโซเชียลมีเดียไว้ต้านคณะรัฐประหาร และสถานการณ์ขณะนี้ก็ถือว่าเปราะบาง เนื่องจากทุกอย่างเริ่มถึงทางตัน และหากโควิด 19 ระบาดอีกครั้งประเทศไทยก็จะยากในการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ