การโจมตีไซเบอร์ยิ่งหนัก อาจทำให้ Blockchain มาเร็วกว่าที่คิด!!?? : โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
เมื่อเราสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และได้รับสินค้าในวันถัดไป หรือการที่เราสั่งสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ ล้วนแต่ทำให้การทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน แต่สำหรับการทำธุรกรรมทั้งหมดนี้ ปัจจัยที่สำคัญ คือ “ความไว้วางใจ” ที่ผู้ซื้อเชื่อใจผู้ขายว่าจะมีสินค้า ลูกค้าเชื่อใจซัพพลายเออร์ในเรื่องการจัดส่งสินค้า และทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อใจธนาคารในการโอนเงินที่ถูกต้อง
การที่มีอุปกรณ์ต่างๆที่เชื่อมต่อกันได้ รวมทั้งการให้บริการสื่อสังคมออนไลน์นั้นทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ก็ยังมีรายงานการติดตามการเฝ้าระวังและการโจรกรรมข้อมูลที่อาจทำลายความไว้วางใจในเครือข่ายของเรา โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการโจรกรรมจากแฮกเกอร์ ที่อาจจะกระทบต่อสถาบันการเงิน ร้านค้าออนไลน์ ผู้ให้บริการในทุกธุรกิจ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ ซึ่งภาคธุรกิจจะใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันธุรกิจได้และไม่ทำให้ธุรกรรมต่างๆหยุดชะงักหรือทำให้ลูกค้าไม่ไว้วางใจ
ในขณะที่ Internet of Things หรือ IoT ที่อาจจะมีช่องโหว่ จนทำให้เกิดความเสียงในระดับสูง ดังนั้น Blockchain จึงเป็นโซลูชั่นใหม่ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ถูกต้องแม่นยำบนเครือข่ายขนาดใหญ่ ซึ่ง Blockchain ทำงานคล้ายกับห่วงโซ่ของการคุ้มครองดูแลในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจัดให้มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้และสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากในการทำธุรกรรมทุกครั้งจะมีการระบุตัวตนและเวลาในระบบทุกครั้ง โดยในแต่ละธุรกรรมมีกุญแจส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นแบบสุ่มเพื่อความปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ รวมไปถึงผู้ดูแลระบบไอทีสามารถติดตามย้อนกลับได้ว่า ใครทำและทำเมื่อใด ซึ่งความสามารถในการตรวจสอบความถูกต้องของการกระทำทั้งหมดทำให้ระบบมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
ระบบคลาวด์จะทำให้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบันมีความเสี่ยง เนื่องจากมีการรวมศูนย์ในการจัดเก็บข้อมูล โดยแต่ละเซิร์ฟเวอร์ส่วนบุคคลจะต้องส่งและรับข้อมูลเพื่อการรับรองความถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับ Blockchain นั้น ได้นำระบบอัตโนมัติมาใช้ เพื่อผลักดันให้เกิดเครือข่ายที่ชาญฉลาด ทั้งระบบและซอฟต์แวร์ มากกว่าเพียงแค่แต่ละบุคคลและแต่ละเครื่องเท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่อกันได้
ทุกวันนี้ เมื่อแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องหนึ่งได้ ก็จะสามารถเข้าถึงเครื่องอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกันได้โดยง่ายดาย แต่ในเครือข่ายแบบ peer-to-peer ที่ปลอดภัยของ Blockchain นั้น ทำให้แฮกเกอร์จะต้องเจาะเข้าสู่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายทีละขั้นตอน ซึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก แม้ว่าระบบจะเสียหายส่วนหนึ่ง แต่ข้อมูลที่เหลือทั้งหมดจะยังได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยอยู่เสมอ ดังนั้น Blockchain จึงไม่เพียงแต่จะสามารถระบุตัวแฮกเกอร์ได้อย่างง่ายดายเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินการตามที่ต้องการได้ เพราะถูกขัดขวางตั้งแต่เริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันใน Internet of Things (IoT) จริงๆ แล้วมีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย ซึ่งคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะไม่มีการระบุชื่อในการทำงานร่วมกันในการป้องกันซึ่งกันและกัน เนื่องจากข้อมูลในการทำธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัส
นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยของระบบที่เชื่อถือได้แล้วนั้น การใช้เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้กระบวนทัศน์เปลี่ยนไปในทุกอุตสาหกรรม ด้วยการควบคุมระบบแบบกระจายศูนย์และการกำจัดการทำงานของตัวกลางออกไป การทำธุรกรรมสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องชัดเจน ตัวอย่างเช่น ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ไม่เพียงแต่สามารถตรวจวัดได้อย่างถูกต้อง แต่การประทับเวลาในการทำธุรกรรมอย่างแม่นยำ จะช่วยขจัดข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ่ายค่าบริการได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือฺ Blockchain จะทำให้ผู้ใช้เกิดความไว้วางใจในระบบคอมพิวเตอร์ และมีความเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐที่มีการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถเดินหน้าไปสู่การดำเนินงานในระบบ e-Government ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในอดีตแฮกเกอร์ได้ใช้ประโยชน์จากการที่เราต้องพึ่งพากับระบบเครือข่ายของอุปกรณ์ที่เราไม่ได้ควบคุมดูแลเอง และเราไม่รู้จักอย่างชัดเจน แต่ Blockchain จะเปลี่ยน “คนแปลกหน้า” เหล่านั้นให้เป็นพันธมิตร ด้วยการคืนความไว้วางใจในการทำธุรกรรมแบบดิจิทัล อันกลายเป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานของบุคคลและองค์กรนับจากนี้ไป…โลกเปลี่ยนไปแล้ว!!!
ขอบคุณที่มา: http://www.thaitribune.org/contents/detail/306?content_id=27658&rand=1496115968
Reference
http://readwrite.com
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
21 พฤษภาคม 2560
www.เศรษฐพงค์.com
#Wanwilai วันวิไล รักการดี สำนักข่าว Vihoknews