เมื่อวันที่ 20 กันยายน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) สนามหลวง พิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)
คดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552 – 18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาคดีนักการเมืองได้นัดพิจารณาครั้งแรก และได้อ่านอธิบายคำฟ้องพร้อมสอบคำให้การจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธข้อต่อสู้คดี ศาลจึงได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ 3 นัด ครั้งเเรกวันที่ 2, 30 มิถุนายน และวันที่ 7 กรกฎาคม นี้ และนัดไต่สวนพยานจำเลยวันที่ 19, 21, 26 ก.ค. จนเสร็จสิ้นแล้วจึงนัดคู่ความฟังคำพิพากษาในวันและเวลาดังกล่าว
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (สนามหลวง) อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และพวกรวม 6 คน กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดเเทน 396 แห่งทั่วประเทศ
โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ) ไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 อนุมาตรา 1 ประกอบ ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบตามหลักการที่หน่วยงานราชการเสนอเท่านั้น เว้นแต่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง โดยไม่ได้อนุมัติแนวทาง รูปแบบ หรือวิธีการจัดจ้าง พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงแหล่งรายได้จากหลักทรัพย์เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ซึ่งจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
สำหรับ จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการ ผบ.ตร. ศาลพิพากษาว่า เป็นการเสนอรูปแบบการจัดจ้างตามสายงาน ในฐานะรักษาการแทน ผบ.ตร. ในขณะนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม จึงไม่ถือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ตลอดการอ่านคำพิพากษา นายสุเทพมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอาการใดๆ มีความสงบนิ่ง
ภายหลังจากการอ่านคำพิพากษาจบ กลุ่มแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. พากันปรบมือภายในห้องสังเกตการณ์