.
วันนี้ (1 พฤษภาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย สุเทพ อู่อ้น, ทวีศักดิ์ ทักษิณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส. ชลบุรี เขต 6 ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ส. ที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิแรงงาน พรรคก้าวไกล ร่วมกันเดินขบวนไปพร้อมกับกลุ่มสหภาพแรงงานที่มารวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องสิทธิ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติและวันแรงงานสากล
.
พิธากล่าวว่า ถึงเวลาที่พวกเราต้องสู้ในเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะไปสู่จุดนั้นได้ต้องเริ่มจากการลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง ไม่ว่างบประมาณด้านความมั่นคง หรืองบที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ตรวจสอบไม่ได้ เพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประเทศไทย พรรคก้าวไกลเสนอให้มีเบี้ยบำนาญเพื่อคนหลังวัยเกษียณถ้วนหน้า 3,000 บาท เสนอให้มีการจ้างงานและระบบพัฒนาคนทำงานเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุ เพราะด้วยงบประมาณก้อนนี้ ทำให้คนอีกจำนวนมากที่ต้องยอมออกจากงานไปดูแลพ่อแม่หรือผู้สูงอายุที่บ้าน ได้รับศักยภาพของเขากลับคืนมาแล้วออกไปทำงานได้อีกครั้ง
.
“ที่สำคัญเราต้องส่งเสริมให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายและทำได้สะดวก เพราะเมื่อการจัดตั้งเกิดขึ้น เมื่อนั้นแรงงานในประเทศไทยจะมีกำลังวังชาในการสร้างประเทศ สร้างเศรษฐกิจ และนำพาแรงงานไทยผ่านวิกฤตร้ายและโรคระบาดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เขาต้องต่อสู้เพื่อแรงงานของเขา ต่อสู้เพื่อแก้เงื่อนไขสัญญาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อปฏิวัติชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สิ่งที่แรงงานเรียกร้องคือตัวเลข 8 ชั่วโมง หมายถึง 8 ชั่วโมงในการทำงาน, 8 ชั่วโมงในการพักผ่อน, 8 ชั่วโมงในการหาความรู้เพิ่มเติม แต่ 136 ปีผ่านไป ยังไม่มีอะไรคืบหน้า คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่แรงงานไทยมีแต่ล้าหลัง”
.
พิธากล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลขอร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิไปกับผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ, แรงงานอิสระ, แรงงานข้ามชาติ, แรงงานในกรุงเทพมหานครกว่า 5 ล้านคน, แรงงานในภาครัฐราชการจำนวน 12 ล้านคน, แรงงานในภาคเหนือ 16 ล้านคน, แรงงานภาคอีสาน 12 ล้านคน, แรงงานในภาคใต้ 5 ล้านคน ทุกคนคือประชาชน และพรรคก้าวไกลพร้อมต่อสู้เพื่อพี่น้องแรงงานทุกคนแน่นอน
.
พิธายังกล่าวทิ้งท้ายว่า สิทธิในการทำงานด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี และสิทธิในการรวมตัวกัน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับตามรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนสิทธิดังกล่าวที่เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลเข้าสู่สภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 จึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกคนเข้าไปแสดงความเห็นกันให้มากๆ เพื่อส่งเสียงถึง ส.ส. ในสภาไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลให้ช่วยกันผลักดันร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานทุกคน และสำหรับตนสัญญาว่าทุกปีจะมาเจอในการเดินขบวนแบบนี้แน่นอน
.