01 ก.พ.2567 – ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สารตั้งต้นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและผลพวงต่อพรรคก้าวไกล 1.ยุบพรรคก้าวไกล 2.ตัดสินทางการเมืองตลอดชีวิตกรรมการบริหารพรรคทั้ง 44 คน และ 3.ติดคุกจากคดี อาญามาตรา 116 กรรมการบริหารพรรคทั้ง 44 คน
สารตั้งต้น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 – มาตรานี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพิธาและก้าวไกลกระทำผิดตามวรรค 1 ล้มล้างการปกครอง
บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง
ผลพวง 1 ยุบพรรคก้าวไกล โดยยื่นเรื่องให้ กกต. ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากกระทำผิด พรป. พรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วงเล็บหนึ่งและสอง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92
เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ดังนี้
1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผลพวง 2 ร้อง ป.ป.ช. เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องศาลฎีกาของผู้ตำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตเพราะประพฤติผิดจริยธรรม ดังกรณีของคุณพรรณิการ์ วานิช ซึ่งจะมีกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลจำนวน 44 คนที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ซึ่งบัญญัติโดย รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดเจนในประเด็นข้อห้ามด้วย
ผลพวง 3 ฟ้องดำเนินคดีอาญากรรมการบริหารพรรคก้าวไกล 44 คน ว่ากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพราะการล้มล้างการปกครองถือว่าเป็นการกระทำผิดป.อาญามาตรา 116 ทั้งวงเล็บ 1 และ 2 โดยต้องรวบรวมหลักฐานแห่งพฤติการณ์และสืบเจตนาให้ชัดเจน โดยเฉพาะเจตนาภายใน หลักฐานเหล่านี้มีอยู่แล้วที่ สันติบาล ควรให้ สอบสวนกลางหรือกองปราบปรามเป็นคนทำคดีนี้ โดยมีผู้ไปกล่าวโทษ หรืออาจจะเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 กบฎ ด้วยครับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 113 ”
“ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”