ยังไม่จบ! ‘เรืองไกร’ จี้ ป.ป.ช. ฟัน 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ปมลงชื่อเสนอแก้ ม.112 ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.ทั้ง 2 คำวินิฉัย ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้ว ย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน ป.ป.ช. ไม่ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่
วันที่ 8 ส.ค.67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ ตนได้ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ป.ป.ช. รีบดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยและสรรพเอกสารในสำนวนคดีทั้งสอง จากศาลรัฐธรรมนูญ มาถือเป็นพยานหลักฐานในสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามนัยมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ประกอบนัยมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) และรีบส่งเรื่องให้ศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ต่อไปว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในหนังสือที่ส่ง ป.ป.ช. มีข้อเท็จจริงที่ยุติกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
“ตามที่ ข้าพเจ้า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่อยู่ข้างต้น ได้ส่งหนังสือตามที่อ้างถึง 1. และ 2. ถึง ป.ป.ช. เพื่อให้นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ลงวันที่ 31 มกราคม 2567 มาตรวจสอบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ ดังความควรแจ้งแล้วนั้น
ตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลโดยใช้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มาเป็นสาระสำคัญด้วย ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ส่วนหนึ่งว่า “พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ …” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 ในคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ดังกล่าวคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันเข้าชื่อไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ดังนั้น การร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังกล่าว จึงมิใช่การกระทำโดยลำพังเฉพาะตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนแต่อย่างใด การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 44 คน ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว กรณี จึงควรต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรมในคราวเดียวกันไปพร้อม ๆ กัน
ดังนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ … ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันองค์กรอิสระ ด้วย ตามนัยมาตรา 211 วรรคสี่ กรณีการร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ … นั้น จึงเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคสาม ยังระบุไว่ส่วนหนึ่งว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง” และ ป.ป.ช. ต้องทราบดีว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวผูกพัน ป.ป.ช. และใช้ได้ในคดีทั้งปวงที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ด้วย กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจด้วยการรีบส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ต่อไปว่า กรณีข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 วันที่ 31 มกราคม 2567 และในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 จะเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวน… และมาตรา 76 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน ดังนั้น โดยผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 และตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ซึ่งใช้ระบบไต่สวนและมีผลในวันอ่าน ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้ว ย่อมเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพัน ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช. หาจำต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่แต่อย่างใด”