4 ตุลาคม 2565 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ เรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม และความเสียหายต่อบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทำกินในหลายพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง และประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงวิกฤตปัญหาดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจึงออกแถลงการณ์มาเพื่อเรียกร้องทั้งรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ใน 2 เรื่อง ดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ถือว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง และต้องถือว่ากรณีนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นฉุกเฉิน จึงต้องบริหารแบบสถานการณ์พิเศษ มิใช่บริหารแบบสภาพการณ์ปกติทั่วไป จะต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง และทันท่วงที โดยต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และมาตรการเยียวยาในระยะต่อไปอย่างชัดเจน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์รับน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งได้กำหนดมาตรการไว้อย่างมีแบบแผน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่ามีปัญหาใน 7 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.1.การเตือนภัย น้ำท่วมครั้งนี้มีปัญหาเรื่องการเตือนภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะคาดไม่ถึงว่าน้ำท่วมจะรุนแรง จนรับมือไม่ได้ เช่น อุบลราชธานี ซึ่งตนเองได้ลงพื้นที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำท่วมมีความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2562 และ ณ วันนี้รุนแรงกว่าปี 2562 เนื่องจากอุบลราชธานีเป็นจังหวัดรับน้ำก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ครั้งนี้ปริมาณน้ำเข้าสู่พื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเก็บข้าวของไม่ทัน จากระบบการเตือนภัยของรัฐบาลที่ขาดการใส่ใจจากหลายฝ่าย การออกคำเตือนล่าช้า มาตรการไม่มีความพร้อม
1.2 ในสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วางแผนเตรียมการไว้ โดยประเมินการรับมือในระดับเลวร้ายที่สุด ( worst case scenario) เตรียมมาตรการรองรับเอาไว้ หากไม่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเตรียมการ
1.3 รัฐบาลต้องบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ภาวะเสี่ยง มาบริหารประเทศในขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
1.4 วางระบบในการบริหารจัดการ โดยหน่วยดูแล บัญชาการ ปฏิบัติการชัดเจน ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างชัดเจน
1.5 การบริหารสถานการณ์น้ำท่วม ต้องไม่นำระเบียบเดียวกัน มาบังคับเหมือนกันทั่วประเทศ ต้องดูรายพื้นที่ เช่น พื้นที่น้ำท่วมถาวร พื้นที่น้ำท่วมทุกปี พื้นที่น้ำท่วมขังนาน เป็นต้น แต่ละพื้นที่ต้องมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน โดยการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะกำหนดมาตรการอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
1.6 ต้องให้ความสำคัญกับภาคท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุดเข้ามาแก้ปัญหา รวมทั้งภาคส่วนเอกชน อาสาสมัครต่างๆ
1.7 แผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่แม้ถูกตีตกไป ถือว่าเป็นกรรมของประเทศมาถึงปัจจุบัน ที่ไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำแผนไปดำเนินการ และหากพรรคเพื่อไทยมีโอกาสในการบริหารประเทศ พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดจะดำเนินการ
2.ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณากำหนดเงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ ปรับปรุงระเบียบให้พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของปวงชนสามารถเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ แม้จะอยู่ในช่วงระยะของ 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงก็ตาม เพื่อมิให้ระเบียบ หรือข้อห้ามต่างๆ เป็นอุปสรรคในการจำกัดหรือทำให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนซึ่งกำลังเดือดร้อนอย่างสาหัสอยู่ในขณะนี้
นพ.ชลน่าน ย้ำด้วยว่า หากเปิดสมัยประชุมสภา พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในมาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น มาตรา64,65,68 ต่อไป
“คำพูดที่ฟังแล้วอนาถใจ คือ เดี๋ยวก็ชินแล้ว ประชาชนให้สัมภาษณ์สื่อว่าพวกคุณลองมาอยู่ไหม เพราะชั้นสองของบ้านยังนอนไม่ได้ ทางแก้ระยะต่อไปต้องเร่งสร้างอาชีพรองรับในระยะ 3 เดือน ฟื้นคืนระบบโลจิสติกส์ เร่งจ่ายชดเชยต่อไร่การปลูกข้าว ค่าเยียวยาพื้นที่รับน้ำต้องเร่งจ่าย เพราะน้ำท่วมในปีที่แล้วประชาชนยังไม่ได้” นพ.ชลน่าน กล่าว