“ประพันธ์ คูณมี” ชี้แชตชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นเหตุ! มัดปมครอบงำพรรค แนะ พปชร. ดูข้อกฎหมายใหม่ อาจทำให้พรรคเพื่อไทยเสี่ยงถึงขั้นยุบพรรค
จากกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ตั้งโต๊ะแถลงเปิดหลักฐานข้อความในแอปพลิเคชันไลน์ที่มีการพูดคุยกับบุคคลหนึ่งที่คอยจัดคิวเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ขณะพักรักษาตัวเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการเข้าพบนายทักษิณจริงนั้น
ล่าสุด นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ให้มุมมองทางกฎหมายในรายการ “เปิดโต๊ะข่าว” ทางช่อง PPTV HD 36 ไว้อย่างน่าสนใจ
คอนเทนต์แนะนำประพันธ์ คูณมี อดีต สว.
โดยนายประพันธ์ ระบุว่า กรณีที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ไปเยี่ยมนายทักษิณที่ชั้น 14 น่าจะเป็นประเด็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ จากทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ดี เจ้าหน้าที่แพทย์ รพ.ตำรวจก็ดี เพราะว่าได้กระทำไปโดยชอบหรือไม่ อันนั้นเป็นประเด็นหนึ่ง แต่ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังไม่ได้พูดประเด็นที่สอง คือประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่องทางการเมือง ในการที่นายทักษิณเข้ามามีบทบาทในการครอบงำพรรค เช่น กรณีบอกว่าในการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ให้มีตระกูลวงษ์สุวรรณอยู่ในคณะรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวตร ซึ่งคงต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปว่าอาจจะมี ข้อเท็จจริงที่จะโยงไปถึงพฤติธรรมอันชี้ให้เห็นถึงการครอบครองหรือครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นที่เราต้องติดตามต่อไปในข้อเท็จจริงส่วนนี้
นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พยานและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็มีน้ำหนัก เพราะจะเชื่อมโยงไปถึงการประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้าในคืนวันที่ 14 ส.ค.2567 หลังจากฟังคำพิพากษาที่ศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งมีการประชุมหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ในวันนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปร่วมด้วยหรือไม่ ก็จะเป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรม เกี่ยวกับการครอบงำพรรคซึ่งตรงนี้จะเป็นประเด็นที่โยงมาที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 และ 29 มากกว่า คงต้องดูรายละเอียดต่อไป
“จริงๆแล้วประเด็นนี้ ผมอยากให้นายไพบูลย์ ไปดูพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมาตรา 46 มากกว่า ถ้ามาตรา 46 จะตรงกับเรื่องของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้ ซึ่งมาตรานี้ยังไม่มีนักการเมืองคนใด หรือนักวิชาการทางกฎหมายคนใดที่หยิบยกมาพูด ซึ่งมาตราดังกล่าวเขียนไว้ชัดว่า ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิกหรือผู้ใด เรียกรับหรือยอมจะรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินในหน่วยงานของรัฐ”นายประพันธ์ คูณมี ให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดโต๊ะข่าว
โดยนายประพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า มาตราดังกล่าว วรรคหนึ่งหมายถึง ถ้ากรณีเป็นพรรคการเมืองไปเรียกเงิน ไปเรียกรับผลประโยชน์เพื่อให้ตัวเองได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตรงนี้ก็ผิดแล้ว ส่วนวรรคสองจะเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ ตรงที่ว่าห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินหรือ หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือหน่วยงานของรัฐ
นายประพันธ์ บอกอีกว่า กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่านั้น ไม่ได้มาโดยลักษณะพรรคการเมือง มาในลักษณะเป็นกลุ่มการเมือง ไปเสนอผลให้ประโยชน์เพื่อให้ได้รับตำแหน่งได้รับประโยชน์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยให้เขาหนีออกจากพรรคไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ไม่ปฏิบัติตามระเบียบพรรค ซึ่งตามข้อบังคับพรรคในข้อ 21 การเลือกใครเป็นรัฐมนตรี หรือเข้าร่วมรัฐบาลเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรค ฉะนั้นการที่ไปเอากลุ่มนี้มาโดยไม่ได้ผ่านมติของคณะกรรมบริหารพรรค ซึ่งแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าข่ายมาตรา 46 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 126 คือ ทำให้ถูกยุบพรรค ถูกเพิกถอนสิทธิ และติดคุกถึง 10 ปี
เมื่อถามต่อว่า ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรีหรือในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี นายประพันธ์ กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นอำนาจตามกฎหมายในการที่นายกฯ จะเลือก แต่การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีเหล่านี้ได้บุคคลที่มายกมือให้เป็นนายกฯ ก็ดี เป็นรัฐมนตรีร่วม ก็มาจากเอาประโยชน์เข้าล่อคนละตอนกัน ฉะนั้นอำนาจเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนที่จะได้บุคคลเหล่านี้มาร่วมเป็นรัฐมนตรี ก็เอาผลประโยชน์ไปล่อเขา ไปเสนอผลประโยชน์ให้เขาเพื่อให้ทรยศต่อพรรค ละเมิดระเบียบข้อบังคับพรรค ฉะนั้นกระบวนการตรงนี้จะบอกว่าไม่รับรู้ไม่ได้ ตนถึงบอกว่าลองไปศึกษาประเด็นนี้ จะเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าประมวลแพ่งที่นายไพบูลย์พูดถึง ซึ่งไม่น่าเข้าองค์ประกอบนี้นายประพันธ์ คูณมี ให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดโต๊ะข่าว
เมื่อถามต่อว่า หากเป็นไปตามมาตรา 46 จริง ลักษณะคำร้องที่จะเอาผิดนั้นเป็นอย่างไร นายประพันธ์ กล่าวว่า โยงไปสองส่วน ส่วนที่หนึ่งกรณีที่ไปทำให้พรรคพลังประชารัฐแตกแล้วดึงออกมาบางส่วน เป็นการเอาประโยชน์เข้าล่อ เอาประโยชน์คือตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าล่อ ซึ่งวิญญูชนทั่วไปรู้ว่าพวกนี้แตกมาเพราะอะไร แตกมาเพราะอยากจะเป็นรัฐมนตรี โดยพรรคเสนอผลประโยชน์เข้าล่อ ตรงนี้เข้า พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนที่สอง กรณีที่ไปสอดคล้องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูด หรือนายทักษิณพูด จะไปเข้ากรณีครอบงำพรรค ซึ่งสอดรับกันพอดี
นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประเด็นของ น.ส.แพทองธาร ที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่ประเด็นอื่นใด คือประเด็นที่ดินอัลไพน์ ซึ่งเป็นประเด็นส่วนตัวของนายกฯ ถ้าอยากดูว่าประเด็นที่ดินอัลไพน์น่ากลัวอย่างไร ให้อ่านคำวินัจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีว่าเหตุใด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตสส.พรรคพลังประชารัฐ ถูกเพิกถอนสิทธิถึง 10 ปี และผิดจริยธรรมร้ายแรง ก็เพราะครอบครองพื้นที่ป่าที่ในเขตปฏิรูปและไม่ได้ครอบครองมาก่อน เขารับมาจากพ่อเมื่อปี 2555ฉะนั้นเมื่อครอบครองที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะผิดจริยธรรมและถูกเพิกถอนสิทธิ และเมื่อกรณีที่ธรณีสงฆ์มีทั้งคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา มีทั้งคำพิพากษาของศาล มีทั้งคดีที่พิพากษาให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ติดคุก หลักฐานค่อนข้างครบ มีคำวินิจฉัย มีเอกสารค่อนข้างครบถ้วน แตกต่างจากกรณีอื่นที่หลักฐานยังไม่หนักแน่น