22 ส.ค.2565 – ที่พรรคเพื่อไทย นส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคอ่านแถลงการณ์ของพรรค เรื่อง บทพิสูจน์นายกรัฐมนตรี 8 ปี กับการปฏิรูปการเมืองไทย มีเนื้อหาว่า การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศเป็นมาตรฐานสากล ที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นหลักนิติธรรม (Rule of law) เพราะอำนาจทำให้คนทุจริต ใช้อำนาจในทางมิชอบ อำนาจเด็ดขาดทำให้ทุจริตอย่างไม่มีข้อจำกัด ถ้าปล่อยให้คนที่มีอำนาจเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้ใช้อำนาจสามารถทุจริตโดยไม่มีข้อจำกัด
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาโดยลำดับ แม้เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 9 มิถุนายน 2562 ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเหตุนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่นับถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นเวลา 8 ปี กรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อกันหรือไม่….” และมาตรา 171 วรรคสี่ กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หากดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปี”
เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 โดยประธานกรรมาธิการฯ ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า “เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลมาตรา 264…. แสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี”
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า โดยเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 มาตรา 171 และมาตรา 264 ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อปี 2557 และตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ต้องการปฏิรูปการเมือง แม้เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งตนเองผลักดัน ก็จัดเรื่องการปฏิรูปประเทศรวมถึงการปฏิรูปการเมืองไว้เป็นหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญ การไม่ให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไปจึงกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้แปดปี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ สร้างอิทธิพลทางการเมืองขึ้น อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น จึงเป็นสาระสำคัญที่ส่อแสดงถึงความต้องการที่จะปฏิรูปการเมือง
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำเนินการโดยประการใด กับกรณีเป็นนายกรัฐมนตรีมาแปดปีแล้ว จะเป็นวิกฤตของประเทศอีกครั้งหนึ่ง และอาจนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองขึ้น แต่สิ่งที่จะสะท้อนได้แน่นอนคือ การปฏิรูปการเมือง ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองประเทศเรื่อยมา เป็นความจริงใจหรือเป็นเพียงวาทะกรรมคำพูดที่ให้ดูดีเท่านั้น วันสองวันนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแสดงตัวตน อย่างแท้จริงให้เห็นว่ามีแนวคิด แนวทางแบบเผด็จการอำนาจนิยม ลุแก่อำนาจ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ หรือจะยอมรับการเมืองตามวิถีทางและจารีตประเพณีแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง