ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 ศาลอาญามีนบุรีมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีจ้างวานฆ่านายจักรกฤษณ์ หรือเอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย หมายเลขดำที่ อ.383/2557 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจิรศักดิ์ หรือจี กลิ่นคล้าย อายุ 50 ปี มือปืน, นางสุรางค์ ดวงจินดา อายุ 79 ปี มารดาหมอนิ่ม , พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม ภู่เจริญยศ อายุ 45 ปี อดีตภรรยาของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์, นายสันติ หรืออี๊ด ทองเสม อายุ 35 ปี ทนายความ และนายธวัชชัย หรืออ้น เพชรโชติ อายุ 38 ปี คนขี่จักรยานยนต์ เป็นจำเลย 1-5 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, จ้างวานใช้ ยุยงส่งเสริมให้ฆ่า, มีและพกพาอาวุธปืน ยิงอาวุธปืนในที่ทางสาธารณะ
โดยคดีนี้นางบุญคิด พณิชย์ผาติกรรม มารดาผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลย ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเป็นเงิน 4.4 ล้านบาทด้วย
คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างเดือน ส.ค. – 19 ต.ค. 2556 จำเลยที่ 2-4 ร่วมกันจ้างวานให้ จำเลย 1 กับพวกที่หลบหนี ใชัอาวุธปืนยี่ห้อลูเกอร์ รุ่นโตโกเรฟ ขนาด 7.62 มม. ฆ่านายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อายุ 41 ปี อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ตามร่างกายหลายนัดจนถึงแก่ความตาย เหตุเกิดบริเวณหน้าวัดบางเพ็งใต้ ถนนสุขาภิบาล 3 (รามคำแหง) แขวงและเขตมีนบุรี กทม.
ในระหว่างการพิจารณาคดี นางสุรางค์ มารดาของหมอนิ่ม กับ พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม และ นายสันติ หรือ ทนายอี๊ด จำเลยที่ 2 – 4 ได้ประกันตัวไปคนละ 5 แสนบาท คดีสืบพยานเสร็จสิ้น เมื่อเดือน ก.ย. 59 ที่ผ่านมา
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ว่าได้ร่วมกันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 289(4) และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ฯ ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 5 และให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยยกฟ้องจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้อง
ต่อมาอัยการโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งห้ายื่นอุทธรณ์
โดยศาลอุทธรณ์มีพิพากษา เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2561 ว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 มารดาของ พญ.นิธิวดี จำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างวานให้นายสมจิตร หรือ ทนายอิ๊ด ติดต่อให้นายจีรศักดิ์ จำเลยที่ 1 มือปืน และนายธวัชชัย จำเลย 4 คนขี่ จยย.มาฆ่าผู้ตายจริง เนื่องจาก น.ส.สุรางค์ยังโกรธแค้นที่ผู้ตาย ทำร้ายร่างกายหมอนิ่ม บุตรสาวคนเดียว และทำร้ายหลานสาวได้รับบาดเจ็บหลายครั้งหลายหน และเชื่อว่า ผู้ตายไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมได้
ส่วนพ.ญ.นิธิวดี จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่ายังมีความรักใคร่ผู้ตาย ทั้งระหว่างที่เกิดเรื่องก็ยังเคยมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเคยพาบุตรสาวไปเยี่ยมที่เรือนจำทหาร และไม่คัดค้านการประกันตัวผู้ตายของศาลทหาร ที่ทำร้ายร่างกายหมอนิ่ม คดีเสพยาเสพติดด้วย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ให้ประหารชีวิต น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 ฐานใช้จ้างวานให้ฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ผู้ตาย
คำให้การของ น.ส.สุรางค์ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาบ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต และให้ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.5 ล้านบาท ร่วมกับจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ส่วน พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม จำเลยที่ 3 พิพากษากลับยกฟ้อง
ขณะที่จำเลยที่ 1,4,5 นั้น แม้ไม่มีประจักษ์เห็นการจ้างวาน แต่มีข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งช่วงก่อน-หลังเกิดเหตุ รวมทั้งข้อมูลการเคลื่อนที่สัญญาณโทรศัพท์ตามเส้นทางเกิดเหตุที่มีการเฝ้าติดตามผู้ตาย อีกทั้งวงจรปิดตามสถานที่ใกล้ที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1,5 ก็รับว่าบุคคลในภาพเป็นตน ซึ่งการแถลงข่าวหลังสอบสวนจำเลยทั้งสองไม่มีท่าทีว่าถูกบังคับ ดังนั้นที่ภายหลังอ้างว่าจำเลยที่ 1,4,5 โอนเงินให้กันเพราะติดหนี้ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัว น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 ระหว่างฎีกา ตีราคาประกัน 1 ล้านบาท
ต่อมา นายจิรศักดิ์ กลิ่นคล้าย มือปืน, นางสุรางค์ มารดา พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม จำเลยที่ 1 และ 2 ยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ต่อสู้ในประเด็นการร่วมจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้องนั้น ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมชดใช้ตามจำนวนดังกล่าวนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และฎีกาข้ออื่นที่ต่อสู้ประเด็นการรับฟังคำให้การพยานที่มาลงโทษจำเลย ก็ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับพฤติการณ์การกระทำผิดของนางสุรางค์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแม่ยายผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่าเกิดจากการที่ผู้ตายกระทำต่อพญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่มจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของจำเลยที่ 2 ครั้งแล้วครั้งเล่า และบางครั้งยังกระทำต่อหน้าหลานเล็ก ๆ ของจำเลยที่ 2 อันเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมอารมณ์ของผู้ตาย โดยก่อนเกิดเหตุมีความไม่แน่นอนว่าผู้ตายซึ่งเป็นนักกีฬายิงปืน มีอาวุธปืนอาจใช้อาวุธปืนของตนกระทำต่อจำเลยที่ 3 และครอบครัวในขณะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็เป็นได้เพราะก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือนก็ยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็กจนผู้ตายถูกจับและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำและเพิ่งได้รับการประกันตัวมาไม่นาน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขณะเกิดเหตุเป็นหญิงมีอายุถึง 72 ปีและบัดนี้มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเข้าลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 78 ที่ศาลอาจลดโทษได้ให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง และตาม ป.อ.มาตรา 52 ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งในสามและคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตด้วยเหตุเพียงคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 อีก
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์