.
วันนี้ (9 มิถุนายน) อิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ให้ความเห็นภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดี พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เมืองนครสวรค์ กับพวกฆ่าทารุณผู้เสียหาย ว่า กรณีมีคนสงสัยว่าศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต พ.ต.อ. ธิติสรรค์ กับพวก 6 คน และจำเลยที่ 6 โดนโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน อัยการจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้อธิบดีอัยการคดีศาลสูงจะเป็นผู้พิจารณา เพราะถึงแม้ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต แต่อัยการจะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น หากศาลลดโทษลงมาแล้วโทษน้อยเกินไป อัยการก็อุทธรณ์ให้ลงโทษหนักขึ้น
.
ส่วนคดีนี้เข้าใจเบื้องต้นว่าศาลลงโทษทุกข้อหา และประหารชีวิตเต็มตามฟ้องของอัยการแล้ว
.
ส่วนที่ศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตเพราะปรากฏว่ามีเหตุลดโทษ ส่วนจำเลยก็ได้บรรเทาผลร้ายแล้ว อันนี้ก็เป็นดุลยพินิจของศาล
.
อย่างไรก็ตาม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 (2) บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต และจำเลยไม่มีการอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็คือว่า คดีที่ศาลระวางโทษสูงถึงประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต บางทีจำเลยไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ก็มี กฎหมายต้องการให้มีการกรองอีกครั้งโดยศาลสูง ถ้าศาลอุทธรณ์ยังเห็นด้วยกับศาลชั้นต้น คดีก็ถึงที่สุด
.
ส่วนกรณีที่พ่อและแม่ของผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม มีคำขอส่วนแพ่งฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญาเข้ามาแต่ศาลไม่ให้ อิทธิพรกล่าวว่า เพราะเป็นกรณีที่ตำรวจทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องไปใช้ช่องทางตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 5 นั้น
.
ส่วนอัยการมีหน้าที่ต้องแก้ต่างให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า แม้ว่าจะเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการจะต้องแก้ต่างให้หน่วยงานของรัฐ ในกรณีถูกฟ้องเพราะเจ้าหน้าที่ในสังกัดไปทำละเมิด โดยกรณีนี้เจ้าหน้าที่อ้างว่าทำไปตามหน้าที่ ผู้เสียหายจะฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้
.
แต่มีประเด็นต้องพิจารณาว่า 1. ที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำไปตามหน้าที่นั้น จริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอัยการจะรับให้ทุกเรื่อง ฉะนั้น อัยการอาจจะไม่รับแก้ต่างให้ก็ได้ เป็นดุลยพินิจอัยการ
2. หากเป็นการทำละเมิดเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่จริง แต่ฝ่ายผู้เสียหายตั้งฟ้องทุนทรัพย์สูงจนเกินไป เช่น บางคดี 50 ล้าน ทั้งที่ความจริงเสียหายไม่ถึง 5 แสนบาท อัยการก็ต้องพิสูจน์ในศาลว่าค่าเสียหายไม่ถูกต้อง
.