ศาสตราวุธของผู้อ่อนแอ
( Weapons of the Weak )
วันนี้ผมได้รับคลิปและข้อความ เรื่องฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์จากเพื่อนๆหลายคน ทั้งภาพ ข้อความและคลิป ทำให้ผมเกิดคำถามกับตัวเองว่า พวกที่กำลังทำฝายแกนดินซีเมนต์เหล่านี้เป็นใคร? พวกเขากำลังทำอะไร? และพวกเขากำลังจะไปทางไหน?
ผู้ที่อ่อนแอในสังคมไทยนั้น เป็นทั้งผู้ที่อ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจและผู้ที่อ่อนแอทางด้านสังคมไปพร้อมๆกัน
ผู้ที่อ่อนแอครอบคลุมตั้งแต่เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ พวกเขาพึ่งพาการทำเกษตรจากน้ำฝนเป็นหลัก และไม่มีโอกาสจะทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี แม่ค้าหาบเร่ กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน คนงานที่อยู่ในโรงงานตามตึกแถวในเมือง คนสลัม คนพิการ ที่ไม่มีความรู้และไม่มีงานทำ คนตกงาน และคนที่บ้านแตกสาแหรกขาด เป็นต้น
กลุ่มคนเหล่านี้ ต่างพากันดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าในท้ายที่สุดแล้วชะตากรรมของตัวเองจะเป็นอย่างไร? ความทุกข์เข็ญของตัวเองเกิดขึ้นมาจาก สาเหตุอะไร? และจะใช้เครื่องมืออะไรที่จะช่วยให้ ตัวเขาพ้นจาก ความทุกข์และความยากได้?
ศาสตราวุธ ของผู้ที่อ่อนแอ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ความยากมีตั้งแต่ ระดับการพึ่งพาตัวเองแบบต่ำสุด คือหวังพึ่งสิ่งที่อยู่นอกตัวเองเช่นการไปบนบานสานกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไปหาพระหาเจ้า เพื่อขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครอง การ ไปรดน้ำมนต์ และการไปขอหวย จากต้นไม้ สัตว์ประหลาด หมอดู พระ เป็นต้น
ในระดับถัดมาคือการหวังพึ่งพาเจ้านายและผู้อุปถัมภ์แบบดั้งเดิม เช่นการไปขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ รัฐบาล และนักการเมืองให้ความช่วยเหลือ
ศาสตราวุธของผู้ที่อ่อนแอในระดับที่สูงขึ้นเช่น “การร้องเรียน” ต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบกับปัญหาของพวกเขา”การถวายฎีกา” และ”การฟ้องร้อง” ต่อศาลปกคลอง และหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ
ส่วนศาสตราวุธ อีกรูปแบบหนึ่งของผู้ที่อ่อนแอ ที่เริ่มปรากฏตัวให้เห็นเป็นหน่ออ่อนของการแก้ไขปัญหา ความทุกข์ ความยากและความขาดแคลนในชีวิต ทางด้านวัตถุของพวกเขา ที่เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2565 คือ “ การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์”
ความพยายามที่จะ หาทุนเพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ มีตั้งแต่การลงขัน สร้างฝายกันเองของชุมชนท้องถิ่น เช่นที่ตำบลเชียงม่วน จังหวัดพะเยา การทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสร้างฝายที่จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดขอนแก่น การขอความช่วยเหลือและขอการสนับสนุนจากชมรม ป่ารักษ์น้ำและจากภาคธุรกิจเอกชน ในจังหวัด เช่นที่จังหวัดน่าน เป็นต้น
วันนี้ผมได้รับข้อความจากคุณประดิษฐ์ เพชรแสงอนันต์ อดีตข้าราชการครูที่เกษียณอายุแล้ว จากจังหวัดน่าน ความว่า
“ 26 ก.ค.65 ผู้ใหญ่บ้านยอดดอยวัฒนา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นัดประชาชนกลุ่มเล็กประมาณ 10คน แก้ปัญหาระบบน้ำจากภูเขาเข้านาด้วยนวัตกรรม ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมด 4พันบาท (ไม่มีค่าจ้างเพราะประชาชนทำเอง)
27 ก.ค.กรรมการฯเครือข่ายเขื่อนและเจ้าหน้าที่เขื่อน(เจ้าภาพงบ 4พันบาท)จะเยี่ยมชมและวางแผนต่อยอดในการนี้ผอ.ศูนย์ป่าไม้น่านจะมอบหมายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมดำเนินการเพื่อขยายผล”
จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนของผู้อ่อนแอที่อยากจะได้รับโอกาสในการทำการเกษตรตลอดทั้งปี แทนที่จะต้องรอแต่ น้ำฝนเพียงอย่างเดียว เงินจำนวน เพียง 4,000 บาทนั้น สามารถจะพลิกฟื้นชีวิตของผู้ที่อ่อนแอได้จำนวนหนึ่งจริงๆ อย่างน้อยที่สุดก็ 10 ครอบครัว
ผมดีใจที่เห็นข้อความของนาย ภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการชลประทาน ขนาดเล็ก เขต 6 จังหวัดขอนแก่น ที่ให้ข้อแนะนำ ความว่า
“ จากภูมิประเทศในลักษณะนี้ เราสามารถสร้าง ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ ขนาดเล็ก ไปตามระดับเป็นช่วงๆ มีลักษณะเป็นเหมือนขั้นบันได
ทั้งนี้ในแต่ละช่วง เราสามารถขุด สระเล็ก สระน้อย เพื่อรองรับการทดน้ำเข้าเก็บกักในสระได้ โดยยอมเสียผืนดินบางส่วนมาเป็นสระ ได้แหล่งน้ำสำรอง เลี้ยงสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหาร โดยมีน้ำจากต้นน้ำไหลมาเติมในสระ และ สูบน้ำในสระเข้าแปลงเพาะปลูก เป็นวัฏจักรหมุนเวียน สัตว์น้ำจะโตเร็ว มีรสชาดดี ขายปลาซื้อข้าวได้ เป็นการปรับวิถี เพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงครับ”
ที่จังหวัดน่านนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง จึงยากที่จะกัก เก็บน้ำฝนเอาไว้ได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรต่อสู้ดิ้นรนด้วยการใช้ “ฝายแม้ว”( ฝายไม้ไผ่ ) เพื่อกักเก็บน้ำ นวัตกรรมการกักเก็บน้ำขนาดเล็กนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะกักเก็บน้ำได้ ประมาณเพียงหนึ่งปี แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดจิตใจที่จะหาน้ำเอาไว้ใช้เพื่อการผลิต การบริโภคและอุปโภคของผู้ที่อ่อนแอ
แต่ในขณะนี้ความรู้เรื่องฝาย น้ำล้นแกนดินซิเมนต์กำลังค่อยๆเผยแพร่ไป ทีละน้อยๆ และผู้ที่อ่อนแอจำนวนหนึ่งได้รับทราบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของฝายตัวนี้แล้ว พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อสร้างฝายประเภทนี้ขึ้นทีละตัว ทีละตัวตามกำลังความสามารถของชุมชน
ล่าสุดผมได้รับภาพที่เกษตรกรอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านได้ลงมือกันสร้างฝายแล้วในวันนี้ (ดูภาพประกอบ)
มีข้อความที่คุณพันธ์ชัย วัฒนชัย พูดถึงพื้นที่ของอำเภอบ่อเกลือว่า
“ ผมเคยเป็นนอ.ปัว สมัยนั้นบ่อเกลือเป็นกิ่งอำเภอ เป็นแหล่งเกลือสำคัญของล้านนาและล้านช้าง อดีตเป็นทะเล มีการยกตัวของพื้นโลก ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นภูเขา จึงมีแหล่งเกลืออยู่ใต้ดิน แต่ขาดสารไอโอดีน พระเทพฯเคยให้ปรับปรุงโดยใส่สารไอโอดีนเข้าไป เด็กๆจะได้ไม่เป็นโรคคอพอก นอกจากนั้น เคยเป็นแหล่งต้นน้ำน่าน แต่ปัจจุบันแยกออกมาเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ผมเคยเดินเข้าไปดูต้นน้ำน่านบนภูเขา เพราะเกิดที่ปลายน้ำน่านคือ อ.บางมูลนาก พิจิตร เล่นน้ำน่านตั้งแต่เด็ก เลยอยากเห็นต้นน้ำน่าน. น้ำน่านรวมกับน้ำยมที่อ.ชุมแสง นครสวรรค์ แล้วไหลลงปากน้ำโพ รวมกับปิงวัง รวมกันเป็น เจ้าพระยา ลงสู่ทะเลอ่าวไทย”
ในนามของประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ผมใคร่ขอขอบคุณผู้ที่บริจาคเงินจำนวน 4000 บาทในการสร้างฝายตัวนี้ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ที่กรุณาให้ความร่วมมือในการสร้างฝายตัวนี้ด้วยครับ
ผมหวังว่าในเดือน สิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่พวกเรา มีกำหนดการที่จะลงพื้นที่ของจังหวัดน่าน เราคงได้มีโอกาสไปให้กำลังใจและได้ไปชมฝาย ตัวนี้ของท่านด้วยครับ
สวัสดีครับ… จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
26 กรกฎาคม 2565