เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #คนจนในกทม. !เกิดจาก กฎเกณฑ์ที่กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้กำหนดขึ้นทั้งสิ้น

#คนจนในกทม. !เกิดจาก กฎเกณฑ์ที่กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้กำหนดขึ้นทั้งสิ้น

17 July 2022
393   0

 

การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนจนใน กทม.

คนจนใน กทม. เป็นใคร? พวกเขาทำมาหากินอะไร? พวกเขาอาศัยอยู่ที่ไหน? คุณภาพชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร? และเราควรจะแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างไร?

“ความยากจน” และ ”คนจน” ไม่ควรมองแบบสถิตย์หรือหยุดนิ่ง แต่ควรจะมองแบบมีพลวัตรที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง เพราะความจนและคนจนอาจเปลี่ยนแปลงไปในด้านดีและด้านเสื่อมถอยได้จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล และอัตวิสัย (subjective) ของตัวคนจนเอง (การต่อสู้ดิ้นรนหรือไม่และต่อสู้ดิ้นรนในระดับไหน)

คนจนใน กทม.ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มแม่ค้าหาบเร่ แรงงานรับจ้างทั่วไป คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนแก่ คนพิการ คนไร้บ้านและคนอพยพที่ไร้สัญชาติ (คนกลุ่มนี้สูญเสียสิทธิ์ตามกฎหมายเพราะไม่ได้รับสัญชาติไทย ทั้งที่เกิดในเมืองไทยและผู้ที่อพยพเข้ามาแล้วหลายสิบปี) ชนชั้นกลางระดับล่างที่อาศัยอยู่ใน ตึกแถวเช่าหรือบ้านเช่าที่กำลังจะกลายเป็นคนจน เพราะไม่ได้รับการต่อสัญญาจากเจ้าของที่

ความจนและคนจนเป็นพลวัต เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากคนที่เคยพออยู่กิน แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป วัยของผู้อยู่อาศัยที่สูงขึ้น แม้เขาจะอาศัยอยู่ตามบ้านหรือตึกแถวเก่าๆ บ้านเช่า หรือตึกแถวที่เซ้ง 20 – 30 ปี ที่ดูเหมือนจะมั่นคงตามสมควร แต่หากสัญญาหมดอายุเพราะเจ้าของต้องการจะทุบตึกและขายที่ไป คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นคนจนรุ่นใหม่ได้เหมือนกัน

ผมพบว่ามีกลุ่มคนชั้นกลางและชนชั้นระดับล่างจำนวนมากมายที่กำลังอยู่ในจุดพลิกผันของชีวิต หรืออยู่ในสถานะที่กำลังจะล่มสลาย เพราะต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยไป จากปัญหาราคาที่ดินใน กทม.ที่สูงขึ้นตลอดเวลา ราคาที่ดินสูงขึ้นเร็วเป็นการคุกคามความปลอดภัยของผู้คนจำนวนมากเช่นเดียวกันกับการมีโอกาสของคนบางกลุ่ม

อาชีพของคนจนแบบดั้งเดิมใน กทม. ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกลุ่มแม่ค้าหาบเร่ คนขับแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนงานก่อสร้างและคนงานที่รับจ้างทั่วไป คนกลุ่มนี้อยู่ในเศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) แตกต่างจากคนจนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการ (formal sector) อาทิเช่น พนักงานขายของตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ พนักงานทำความสะอาด และพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น นี่เป็นพลวัตรของกลุ่มอาชีพคนจนใน กทม. ที่มีการศึกษาดีขึ้น มีสวัสดิการ และความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ลักษณะของคนจนนั้นดูได้จากบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของประปาและไฟฟ้าได้ รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถขอทะเบียนบ้านได้ ทำให้ไม่สามารถขอน้ำประปาและไฟฟ้าตามไปด้วย

ผมคิดว่ากลุ่มคนใน กทม.ที่ยังต้องอาศัย “มิเตอร์ไฟฟ้าและประปารวม”อยู่ในขอบข่ายของคนจนทั้งสิ้น เพราะคนกลุ่มนี้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าประปาแพงกว่าคนทั่วไป ส่วนคนจนรุ่นใหม่มักอาศัยอยู่ตามห้องเช่าหรือคอนโดมิเนียมราคาถูก

คนจนในกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดมักจะเสียค่าน้ำค่าไฟที่สูงกว่าบ้านเรือนทั่วไป ส่วนครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนรายจ่ายค่าที่อยู่อาศัยรวมค่าน้ำค่าไฟสูงถึงร้อยละ 30- 50 ของรายได้ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญของคนจน

ห้องเช่าราคาถูกมักอยู่ในที่ดินตาบอดหรือห้องเช่าในชุมชนแออัด สถานที่เหล่านี้ผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ เพราะมีราคาถูกใกล้กับแหล่งงาน มันเป็นที่ๆ หลงเหลืออยู่ตามซอกหลืบของเมือง และเป็นพื้นที่ชายขอบที่กลไกราคาไม่สามารถทำงานได้

ราคาค่าเช่าห้องรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 1000 – 2000 บาท สำหรับห้องเช่าที่มีคุณภาพต่ำ คับแคบ ไม่มีความปลอดภัย และไม่มีห้องน้ำภายในห้อง ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้เช่าคนอื่นๆ และยังต้องเสียค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าราคาแพง ที่เจ้าของห้องเช่ามักจะคิดสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนด ผู้เช่าห้องที่รวมค่าน้ำและค่าไฟแล้วเฉลี่ยเดือนละ 3,800 บาท

ปัญหาสำคัญที่สุดของแม่ค้าหาบเร่แผงลอยคือ ปัญหาที่ทำกินที่ใช้วางหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่เดินบนทางเท้าของบุคคลทั่วไป

สำหรับสถานที่ๆ ใช้ในการทำธุรกิจของแม่ค้าหาบเร่ มีเหตุแห่งความไม่แน่นอนที่มาจากนโยบายของ รัฐบาลและผู้ว่า กทม. ที่แตกต่างกัน ไปตามยุคสมัย

นอกจากนี้เหตุแห่งความไม่แน่นอนของ” พื้นที่” ในการทำการค้าของกลุ่มแม่ค้าหาบเร่แล้ว ยังมาจากเรื่องของ”อำนาจในสังคมไทย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม.

เพราะเหตุว่าการออกแบบเมืองมีแต่ภาคราชการและภาคธุรกิจเท่านั้นที่มี “อำนาจ” ในการกำหนดว่ากรุงเทพฯ ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ภาคราชการใช้อำนาจ ตามกฎหมายในการกล่าวอ้างเรื่องนโยบายการพัฒนาเมือง ส่วน ”อำนาจ” ของภาคธุรกิจมาจาก “อำนาจของทุน” ซึ่งเป็นกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งแสวงหากำไรจากการพัฒนาเมือง กล่าวโดยสรุปกรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นที่ของอำนาจจากระบบราชการและอำนาจของทุนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

คำถามมีอยู่ว่าคนกรุงเทพฯ สมควร หรือไม่ที่จะถูกกำหนดชะตาชีวิตจาก หน่วยงานภาครัฐ เหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟฟ้า หรือการตัดถนนหนทางที่คนกรุงเทพฯเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่เพียงฝ่ายเดียว

เพราะนโยบายข้างต้นมีผลทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น และทำให้กลุ่มคนชั้นกลาง ชนชั้นกลางระดับล่างและคนจนในเมืองถูกบีบบังคับด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ (economy compulsation) ให้ต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย และพื้นที่ในการทำมาหากินให้ต้องออกไปอยู่นอก กทม. มากยิ่งขึ้นทุกที

ไม่มีข้อสงสัยหรือว่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นตามกฎเกณฑ์ของทุนนิยมเสรี โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

กรุงเทพฯ ไม่ควรจะเป็นเมืองที่ถูกพิจารณาในฐานะเป็นเพียง “สินค้า”สำหรับผู้มีฐานะมั่งคั่งกว่าในการเข้าถึงได้ และกีดกันคนกลุ่มอื่นๆ ออกไป ใช่หรือไม่?

กรุงเทพฯ ควรจะเป็นที่อยู่ของคนทุกคน ทุกกลุ่มอาชีพและทุกกลุ่มรายได้ กรุงเทพควรจะเป็นที่รวมของผลประโยชน์ของคนทั้งมวลโดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยควรมีส่วนร่วมในการกำหนดว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเมืองของนักธุรกิจเท่านั้น

ที่ผ่านมาความเจริญรุ่งเรืองของกรุงเทพฯ นั้น คนจนแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนาเลย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าและค่ารถไฟฟ้าที่มีราคาแพงเกินไปสำหรับพวกเขา

สิทธิต่างๆ ที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับความปรารถนาของคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่สิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็น ”สิทธิโดยรวมของคนกรุงเทพฯ” สิทธิต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้หมายถึงการต่อต้านระบบ เศรษฐกิจตลาดที่ทุนต่างๆ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ขาดความยับยั้งชั่งใจและขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ระบบเศรษฐกิจตลาดที่เสรีจนเลยเถิด สมควรได้รับการควบคุมให้เป็นเศรษฐกิจตลาดที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เศรษฐกิจตลาดที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นการตระหนักถึงสิทธิที่เป็นรูปธรรมของ คนจนในกรุงเทพฯ ที่สมควรได้รับ

กรุงเทพฯ ควรเป็นมหานครที่ผสมผสานความแตกต่างทางสังคมและทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็น มหานครที่ผสมผสานระหว่างความยุติธรรมและความเท่าเทียมในเมือง พอประมาณ ที่เน้นให้เห็นถึงการกำหนดให้ผู้อาศัยทั้งที่เป็นคนมั่งมีคุนชั้นกลาง คนจน กลุ่มเปราะบาง และของผู้คนที่หลากหลายทั้งทางด้านวัฒนธรรมและสังคม

เราควรตระหนักถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางสังคม การมีอาชีพ การมีงานทำ และการดำรงค์ชีวิตที่ได้มาตรฐาน เราควรมีสถานที่พักผ่อนสาธารณะ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงอาหาร น้ำ ไฟฟ้า ความปลอดภัยจากภัยทางสังคม การมีส่วนร่วมและการแสดงตัวตน การสาธารณสุข การศึกษาวัฒนธรรม ความมั่นคงในชีวิตและการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ

สำหรับกลุ่มคนจนแล้ว สิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับคือเรื่องของสิทธิในการใช้ไฟฟ้า ประปา ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพพอประมาณ สาธารณสุขและการศึกษา ที่เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป

เพื่อแก้ปัญหาให้แก่กลุ่มคนจนตกไปโดยพื้นฐาน ผมเสนอว่า กทม. ควรดำเนินนโยบายและมาตรการเร่งด่วนดังต่อไปนี้คือ

1. จัดสถานที่ค้าขายให้แก่กลุ่มหาบเร่ให้เป็นการถาวร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสิทธิของผู้ใช้พื้นที่สาธารณะกับกลุ่มแม่ค้า มีการจดทะเบียนผู้ค้าอย่างถูกต้องตามกฏหมายและได้รับอนุญาตจาก กทม. มีการควบคุมทั้งทางด้านความสะอาด ด้านสุขอนามัยเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย

การควบคุมค่าเช่าของแม่ค้า ควรใช้ระบบแอพพลิเคชั่นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และควบคุมการทุจริตได้

2. กทม. สมควรสนับสนุนอาชีพค้าขายเล็กๆ เหล่านี้เพราะมันเป็นอาชีพที่เป็นอิสระใช้เงินลงทุนน้อยเหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีทุนน้อยและมีการศึกษาน้อย กทม. สมควรส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ให้สามารถเติบโตเป็นธุรกิจที่มั่นคงในระยะยาว ด้วยการสนับสนุนทั้งในด้านของการสร้างแพลตฟอร์ม การค้า และแหล่งเงินทุน จากสถาบันเงินทุนในระบบ (ตัวอย่างเช่น ผ่านธนาคารออมสิน เป็นต้น)

3. ควรมีระบบให้คนจนแจ้งปัญหาเพื่อขอความช่วยเหลือ ในกรณีฉุกเฉิน ตั้งแต่เรื่องอาชีพ ที่อยู่อาศัย และความเดือดร้อนอย่างฉับพลันทันที เป็นต้น

4. กทม. ควรร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดให้มีนโยบาย ”ห้องเช่าราคาถูก” สำหรับ คนจน นโยบายที่อยู่อาศัยราคาถูก (social housing) อาจใช้ที่ดินของภาครัฐในเมืองที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ราคาสำหรับคนจนไม่ควรเป็นไปตามราคาตลาด แต่เป็นราคาที่ถูก มีคุณภาพดีพอประมาณ มีความสะดวกและปลอดภัย

5. นโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม เพื่อ
ให้คนจนได้มี “พื้นที่ยืน”ในกรุงเทพ และให้คนทุกกลุ่มอาชีพและทุกกลุ่มรายได้มีที่อยู่ในกรุงเทพ

คำถามมีอยู่ว่าทำไมเราจึงควรส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนจน? ก็เพราะ เราต้องการให้ชีวิตของประชาชนคนจนดีขึ้นและทำให้พวกเขาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ทำให้พวกเขามีความต้องการที่จะเข้าร่วมการพัฒนาประเทศไทยพร้อมกับคนกลุ่มอาชีพอื่นๆ

6. กทม. ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น อาทิเช่นกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ รถรับจ้างสองแถวตามตรอกซอกซอยต่างๆ เป็นการสมควรจะโอนอำนาจรับผิดชอบมาไว้ที่ กทม.เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจนอกระบบมารีดไถคนกลุ่มนี้ ได้อีกต่อไป

7. กทม. ควรร่วมมือกับเจ้าของตลาดนัด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเรื่องของการทำความสะอาดตลาด การกำจัดขยะตามชุมชนต่างๆ และการเก็บภาษีเพื่อใช้พัฒนา กทม.

8. กทม.ควรทำ pilot project เรื่องการบำบัดน้ำเสียในโซนใดโซนหนึ่งก่อนโดยการร่วมมือกับเจ้าของตลาดและแม่ค้าหาบเร่ในโซนนั้นๆ ค่าบำบัดน้ำเสียให้จ่ายผ่านระบบแอพพลิเคชั่น เท่านั้น

9. เรื่องการนำสายไฟฟ้าลงดิน เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับชาว กทม. กทม. ควรใช้โอกาสนี้กดดันให้บริษัทเอไอเอส ทรูและดีแทคต้องร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการนี้ให้แก่ กทม.ด้วย

นอกจากนี้เรื่องการป้องกันน้ำท่วมใน กทม. สมควรทำอย่างเร่งด่วนให้เห็นผลทันที เพราะก่อความเสียหายให้แก่คนกรุงเทพฯ รวมถึงคนจนมาโดยตลอด

10. สร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริม กรุงเทพฯ ให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวด้วยการทำให้เป็นเมืองที่ปลอดจากอาชญากรรมต่างๆโดยการร่วมมือกับตำรวจนครบาลและการไฟฟ้านครหลวง

รวมทั้งควรทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสีสันทางด้านวัฒนธรรม และเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีคือมีอากาศที่ปลอดภัยและมีธรรมชาติที่งดงาม และ

11. ปฏิรูประบบโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนของเด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจน โดยเน้นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม ความกตัญญู ภาษาต่างประเทศ การใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร และการฝึกฝนการทำธุรกิจอย่างเป็นจริงในทุกระดับชั้นเรียน

รัฐบาลมาแล้วจากไป ผู้ว่า กทม. มาแล้วจากไป นี่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายและกติกาของสังคม แต่ความยากจนของกลุ่มคนจนใน กทม. ไม่ใช่กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้กำหนดขึ้นทั้งสิ้น

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความ เหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

17 กรกฎาคม 2565