23 ก.ย.2565 – มีรายงานแจ้งว่า นายมารุต บุนนาค ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว สิริอายุ 98 ปี
สำหรับ นายมารุต บุนนาค เกิดเมื่อ 21 ส.ค. 2467 เป็นบุตรของ พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) กับผ่องศรี บุนนาค (สกุลเดิม: เวภาระ) ธิดาขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) กับคุณหญิงทองคำ เรียนมัธยมที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ (DSA57) และจบการศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2490 ในสมัยที่มหาวิทยาลัยยังใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” และได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, ปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ว.ป.อ.วุฒิบัตรกิตติมศักดิ์ วิทยาลัยการทัพบก
ชีวิตส่วนตัว มารุต บุนนาค สมรสกับ คุณหญิงพันทิพา บุนนาค (สกุลเดิม “พันธุ์มณี”) มีธิดาคือ มฤทุ บุนนาค มอริ เจ้าหน้าที่ระดับสูงใน องค์การสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีบุตรคือ รุจิระ บุนนาค สำเร็จนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สำเร็จปริญญาโทกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ปริญญา ที่มหาวิทยาลัยทูเรนและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดูแลสำนักงานต่างประเทศ
ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2519 และปี พ.ศ. 2521 และปัจจุบัน เป็นประธานร้านธรรมศาสตร์กาชาดและเป็นอุปนายกสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการของสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 – พ.ศ. 2526
มีประสบการณ์ทำงานเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อน ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 และเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2518 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ต่อมาจึงได้เข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์และลงเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เขต 2 คือ เขตพญาไทและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 นายมารุต ได้ลงเลือกตั้งอีกครั้ง คราวนี้ประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้ง และได้เป็น ส.ส. ในเขตกรุงเทพมหานคร นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์สมัย พันเอกพิเศษ ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม และดำรงตำแหน่งมากมาย ได้แก่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2524 – พ.ศ. 2526
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2533
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2531
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2538 และทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว ในการคัดเลือกประธานสภา หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 จากฐานะเป็น ส.ส.ที่อาวุโสที่สุดของสภา
นายมารุตได้ประกาศวางมือจากการเมืองเมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 โดยรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ และมีสำนักงานทนายความของตนเอง ชื่อ สำนักงานทนายความมารุต-รุจิระ