ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ครม.ไฟเขียวพยุงเศรษฐกิจกลางปี แจกเงิน 1.32 หมื่นล้าน-อัด 6 มาตรการภาษีกระตุ้นใช้จ่าย

#ครม.ไฟเขียวพยุงเศรษฐกิจกลางปี แจกเงิน 1.32 หมื่นล้าน-อัด 6 มาตรการภาษีกระตุ้นใช้จ่าย

1 May 2019
1073   0

ครม.ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปี 62 แจกเงิน 1.32 หมื่นล้านบาท ผ่าน “บัตรคนจน” แจกเกษตรกรหัวละ 1,000 บาท “ซื้อปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง” เติมเงินผู้มีรายได้น้อยเป็นเดือนละ 500 บาท เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการอีก 200 บาท/เดือน ช่วยเหลือค่าชุดนักเรียน-อุปกรณ์การเรียนแทนพ่อแม่ 500 บาท/บุตร 1 คน พร้อมอัด 6 มาตรการภาษีกระตุ้นใช้จ่าย ยอมสูญรายได้ 8.6 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 ซึ่งประกอบด้วย 1.กลุ่มมาตรการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ2.กลุ่มมาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562

ทั้งนี้ ทั้ง 2 กลุ่มมาตรการจะกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้เติบโตได้ที่ 3.9% จากเดิมที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะเติบโตเพียง 3.8% หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.1%

สำหรับกลุ่มมาตรการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งเป็น 4 มาตรการย่อย ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,200 ล้านบาท ได้แก่

1.มาตรการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนพิการ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้พิการ 1.16 ล้านคน ให้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นจำนวนเงิน 200 บาท/เดือน เป็นเวลา 5 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ย.2562 ซึ่งจะใช้งบ 1,160 ล้านบาท โดยจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และสามารถซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) แอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ตู้เอทีเอ็ม) ก็ได้

2.มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้เกษตรกร สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิต เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท/คน โดยจะได้รับครั้งเดียว ทั้งนี้ เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC แอพฯถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้ ขณะที่มาตรการดังกล่าวจะมีเกษตรกรได้ประโยชน์ 4.1 ล้านคน และคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,100 ล้านบาท

3.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ในช่วงเปิดปีการศึกษา เพื่อช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาช่วงเปิดปีการศึกษา เพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่แล้ว เป็นจำนวนเงิน 500 บาท/บุตร 1 คน โดยจะได้รับครั้งเดียว ซึ่งจะให้การช่วยเหลือกับบุตรผ่านแม่หรือพ่อที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อยสามารถนำไปซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC แอพฯถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการได้สิทธิจะต้องมาลงทะเบียน โดยจะให้สิทธิช่วยเหลือบุตรทุกคนผ่านแม่หรือพ่อเพียงคนเดียว ซึ่งตามฐานข้อมูลพบว่ามีจำนวนบุตรที่มาลงทะเบียนไว้ 2.7 ล้านคน และจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,350 ล้านบาท

4.มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย 5 ล้านคน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กี่ผู้มีรายได้น้อยและรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานราก โดยจะเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้งในร้านธงฟ้าประชารัฐและผ่านแอพฯถุงเงินประชารัฐ เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน จากเดิมที่บางคนได้ 300 บาท/เดือน บางคนได้ 200 บาท/เดือน ก็จะเพิ่มให้เป็น 500 บาท/คน/เดือน เท่ากัน เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนพ.ค.-มิ.ย.2562 คาดว่าจะใช้งบ 6,600 ล้านบาท

“คาดว่ามาตรการย่อยที่ 1-3 จะสามารถจ่ายเงินได้ภายในกลางเดือนพ.ค.นี้หรือไม่เกินวันที่ 15 พ.ค.2562 ส่วนมาตรการย่อยที่ 4 จะสามารถเบิกเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เลย โดยงบประมาณที่ใช้ทั้งหมดจะอยู่ที่ 13,200 ล้านบาท ซึ่งใครที่เป็นทั้งผู้มีรายได้น้อย เป็นคนพิการและมีลูกจะได้รับเงินจากทุกมาตรการ”นายณัฐพรกล่าว

ส่วนกลุ่มมาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 8,620 ล้านบาท ได้แก่

1.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย โดยจะให้ลดหย่อนภาษีเงินได้ให้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าบริการที่จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมการท่องเที่ยว และค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลัก ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากเป็นเมืองรองให้หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

โดยมาตรการดังกล่าวให้มีผลในวันนี้ (30 เม.ย.) จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2562 ขณะที่มาตรการนี้คาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท

2.มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่น อุปกรณ์การศึกษา แต่ไม่รวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์และแทบเล็ต และสินค้ากีฬา เช่น อุปกรณ์กีฬา และเครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬา ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.2562 ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ 1,500 ล้านบาท

3.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าโอท็อปที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว โดยหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันนี้ (30 เม.ย.) จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2562 คาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ 150 ล้านบาท

4.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อหนังสือ (หนังสือเล่ม) และค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ค) โดยหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562 แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อรวมกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (1-16 ม.ค.2562) ต้องไม่เกิน 15,000 บาท คาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ 2,250 ล้านบาท

5.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามที่จ่ายจริงแต่รวมแล้วไม่เกิน 2 แสนบาทโดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้ (30 เม.ย.)-31 ธ.ค.2562

แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ได้สิทธิ์ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ อีกทั้งมาตรการนี้จะไม่ครอบคลุมถึงการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาปลูกสร้างอาคารแยกจากกัน ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 1,350 ล้านบาท

6.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคล โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องบันทึกการเก็บเงินและระบบ POS ซึ่งเชื่อมโยงระบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบหรือค่าบริการเกี่ยวกับ E-TAX เป็นต้น ซึ่งได้จ่ายไปตั้งแต่วันนี้ (30 เม.ย.) จนถึง 31 ธ.ค.2562 โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ 2,370 ล้านบาท

“เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 1 มีสัญญาณเริ่มแผ่วตัวลง โดยมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกสินค้าไทยชะลอตัว ในขณะที่การใช้จ่ายในประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ”นายณัฐพรระบุ

Cr.brighttv

สำนักข่าวว