ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 ธ.ค. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์กรณีไทม์ไลน์ของ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยไปให้สภาฯ จากนั้นสภาฯจะส่งมาให้รัฐบาล ขณะนี้ยังไม่มีการส่งมา เมื่อสภาฯส่งมาแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 25 วัน โดย 5 วันแรกเผื่อไว้หากมีผู้ร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหนหนึ่ง ส่วนอีก 20 วัน นั้นเป็นกำหนดเวลาในการให้รัฐบาลจัดพิมพ์ให้เรียบร้อย
.
แต่โดยทั่วไปใช้เวลาไม่ถึง 20 วัน เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วจากนั้นก็นับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน สุดแต่จะทรงลงพระปรมาภิไธย ลงมาเมื่อใดก็ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯคงจะเป็นช่วงเดือน ธ.ค. หากนับไปอีก 90 วัน ก็จะอยู่ประมาณเดือน มี.ค. 66 ก็คงใกล้กับวันที่สภาฯจะครบวาระ ซึ่งไทม์ไลน์ยังอยู่ห่วงเดิมที่ตนเคยระบุไว้ไม่มีอะไรผิดพลาด
.
เมื่อถามว่า หากนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯแล้วหมายความว่าจะปิดประตูการยุบสภาฯได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง ในอดีตมีการยุบสภาฯโดยที่มีกฎหมายค้างระหว่างทูลเกล้าฯเป็นจำนวนมาก กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่ากฎหมายเหล่านั้นจะตกไป ยังคงลงพระปรมาภิไธยได้ เมื่อถามย้ำว่า แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ถือเป็นความไม่ควรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะเมื่อยุบสภาฯ มีการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายนั้นๆมาก็นำกฎหมายเหล่านั้นไปใช้ในการเลือกตั้งอยู่แล้วไม่มีปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาหรือใดๆไม่เกี่ยวกันเลย
.
นายวิษณุกล่าวว่า “ใครที่ไปนับกันว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหากมีการยุบสภาฯต้องเป็นภายใน 30 วันนั้น หรือสภาฯครบวาระ ต้องเป็นสมาชิกภายใน 90 วันนั้นก็ถูก แต่การนับ 90 วันจะนับจนถึงวันเลือกตั้งไม่ได้นับจนถึงวันที่สภาฯหมดวาระ ดังนั้นที่มีการออกมาพูดกันเยอะว่าหลังวันที่ 24 ธ.ค. แล้วจะอย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นเพราะไปนับ 90 วันถึงวันที่ 22 มี.ค. 66 ที่เป็นวันครบวาระของสภาฯ แต่ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวกัน”
.
เมื่อถามย้ำว่า หากจะให้ปลอดภัยสุดนักการเมืองควรย้ายพรรควันที่เท่าไหร่ นายวิษณุกล่าวว่า “ผมตอบไม่ถูก อยากย้ายกันเมื่อไหร่ก็ย้าย อยากอยู่ก็อยู่ แต่ถ้ายุบสภาฯก็ยังมีกำหนดเวลาเลือกตั้ง 45 วัน ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งก่อน 45 วันได้ ดังนั้นหากมีการยุบสภาฯขึ้นมากระทันหัน พรุ่งนี้ก็ยังย้ายพรรคกันได้ ก็เท่านั้น เพราะมีกรอบ 45 วัน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นปัญหาเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน”
.
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะเป็นปัญหาทางการเมืองหรือไม่ เพราะในขณะนี้สภาฯเกิดความวุ่นวายเรื่ององค์ประชุมทำให้ล่มบ่อยครั้ง นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องทางการเมือง วิปแต่ละพรรคก็ต้องทำงานประสานกัน ส่วนร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ต้องไปถามทางพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตามหากจะระบุว่าเป็นช่วงท้ายสมัยของสภาฯนั้น ก็ยังไปได้ถึงวันที่ 28 ก.พ. 66 อีกทั้งหลังจากนั้นยังสามารถขอเปิดสมัยวิสามัญได้ถึงวันที่ 22 มี.ค. 66 เพราะฉะนั้นจะเปิดสมัยประชุมก็ปิดเพราะเปิดสมัยวิสามัญได้ เมื่อถามว่าขณะนี้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าสภาฯไม่ยอมผ่านกฎหมายสำคัญเพราะมัวแต่จ้องเล่นการเมืองกัน
.
นายวิษณุกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวจะต้องชินกับเหตุการณ์ท้ายสมัยเพราะเป็นมาอย่างนี้ทุกครั้งช่วงท้ายสมัย เพราะสมาชิกอาจเตรียมย้ายพรรค เมื่อรู้ว่าพรรคไม่ส่งตัวเองลงจะเอาคนใหม่ลงก็เกิดปฏิกิริยาขึ้น เตรียมไปหาเสียงไม่มีสมาธิและทำให้ไม่สามารถเดินทางมาประชุมสภาฯได้ หรือในบางครั้งมาประชุมสภาฯเพื่อตั้งกระทู้เพราะสามารถใช้หาเสียงได้ แต่อย่างไรก็ตามหากจะพูดกันถึงเรื่องความรับผิดชอบก็จะเป็นอย่างที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวเตือนไว้ว่า ยิ่งปลายสมัยประชุมสมาชิกควรจะมีบทบาทที่ทำให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น การมาประชุมให้ครบองค์ประชุมถือเป็นเรื่องที่ควรทำ
.
อย่างไรก็ตามจากที่ตนได้พบกับนายชวน นายชวนได้หารือด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ตนก็รับว่าจะนำไปแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบ ซึ่งได้แจ้งไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการจะพูดว่าครบหรือไม่ครบองค์ประชุมนั้น บางครั้งก็พูดยาก บางทีเป็นเทคนิคของสภาฯเช่นนั่งอยู่แต่ไม่แสดงตน หรือเดินออกไม่ไปประชุม บางทีใช้เป็นเทคนิคของการทำงานในสภาฯ บางคนก็ติดธุระจริงหลายเหตุประกอบกัน
.
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลคิดว่าจะคุมเสียงในสภาฯได้หรือไม่ เพราะฝ่ายค้านจะเดินเกมไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบไม่ถูกขอให้ไปถามทางวิป เมื่อถามว่ากรณีส.ส.จำนวนมากอาจใช้วิธีลาออกเพื่อกดดันให้ยุบสภาฯ นายวิษณุกล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้เคยมี แต่ไม่ถึงกับออกหมด ในอดีตสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ เคยมีสมาชิกสภานิติบัญญาติแห่งชาติ(สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้ง เขารู้สึกว่าให้นายกฯคนใหม่ได้แต่งตั้งสนช.ใหม่ จึงทะยอยลาออกครั้งละ 5-10 คน จนกระทั่งถึงครึ่งหนึ่ง นายกฯหลังจากนั้นคือนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงยุบสภา และแต่งตั้งสมาชิกใหม่โดยสภาสนามม้า
.
“ไม่มีกฎหมายใดบอกว่าหากลาออกกันเยอะแล้วจะต้องยุบ แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้วก็ไม่รู้จะอยู่ทำไม และหากจะพูดไปแล้วสมาชิกร่อยหรอลง หรือลาออกไปจนเหลือแค่ 200 คนก็ประชุมได้ เพราะจะเลือกตั้งซ่อมก็ไม่ได้เนื่องจากอายุสภาฯเหลือเวลาน้อย และถ้า 200 คนนั้นจะมาประชุมก็ประชุมได้ โดยยึดองค์ประชุมครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ดีไม่ดีพวกที่คิดจะทยอยลาออกจะทำให้รัฐบาลทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำอย่างนั้น แต่ทำให้เห็นว่ากลไกสภาฯ ไม่เวิร์กแล้ว อย่างไรก็ตามเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่มีปัญหาไม่ติดอะไร ผมเองก็ยังเสียวอยู่เลยว่าลาออกกันเหลือแค่นี้รัฐบาลอาจคิดว่าดีแล้วเพราะต่อไปนี้กฎหมายอะไรที่ค้างกันก็เอาเข้าสภาฯ ช่วงนี้เสียเลย”
——————————-