วันที่ 21 มกราคม 1793 หลุยส์ คาเปต์ หรือ อดีตกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตโดยกีโยติน ณ จตุรัสปฏิวัติ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Place de la concorde
เหตุการณ์ประหารชีวิตหลุยส์ 16 มักถูกสนใจอย่างผิวเผินจากคนไทยในสองแง่มุม มุมหนึง ตื่นเต้น เร้าใจ สะใจ อีกมุมหนึ่ง รังเกียจ ประณาม ทั้งสองแง่มุมนี้ ทำให้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วโลกนี้ กลายเป็นเพียง “ละคร” หรือ “เรื่องเล่า”
แท้จริงแล้ว การประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 มีเนื้อหาสาระมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น มูลเหตุทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ที่เร่งเร้าการปฏิวัติให้รุดหน้าจนนำพามาถึงการประหารชีวิต การถกเถียงประเด็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญเรื่องความคุ้มกันกษัตริย์ในการไม่ถูกดำเนินคดี การถกเถียงในเรื่องลักษณะโดยธรรมชาติของสถาบันกษัตริย์ ตลอดจน ผลพวงจากการประหารชีวิตหลุยส์ 16 ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็น “เป้า” แห่งการโจมตีจากกษัตริย์ในยุโรป
ผมพยายามนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอภิปรายในสภาเพื่อพิจารณาคดีหลุยส์ 16 เราสามารถพบเห็นสมาชิกสภาอภิปรายได้อย่างแหลมคม อ้างอิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ หลักการทางรัฐธรรมนูญ ทั้งจากฝ่ายสนับสนุนให้ดำเนินคดีและฝ่ายไม่สนับสนุนให้ดำเนินคดี ทั้งจากฝ่ายเห็นด้วยกับการประหารชีวิตและฝ่ายไม่เห็นด้วย
วันนี้ ครบรอบ 228 ปีเหตุการณ์ประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 จึงอยากชวนทุกท่านย้อนกลับไปอ่านงานที่ผมเขียน และฟังรายการที่ผมจัดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาทั้งทางรัฐธรรมนูญ และปรัชญาการเมือง
สังคมไทยควรเติบโตและมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะพูด อภิปราย ศึกษา ถกเถียง เหตุการณ์การประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 โดยไม่จำเป็นต้องถูกกล่าวหาโจมตีว่าเป็นพวกหัวรุนแรงหรือล้มเจ้า