ขอถามนายกรัฐมนตรี ?
ท่านในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีหน้าที่อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งให้ราชการ หน่วยงานของรัฐ ชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายและมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้ อีกทั้งมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ
นับตั้งแต่ท่านเข้ารับตำแหน่ง ท่านสั่งสอบสวนจริงๆครับ แต่ท่านไม่เคยติดตามผลการสอบสวนในเรื่องสำคัญเลยว่ามีผลออกมาอย่างไรและจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น
1.กรณีมีคำสั่ง คสช.ให้ข้าราชการที่มีหลักฐานว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตพ้นจากหน้าที่ ตั้งแต่สั่งจนบัดนี้ 8 ปีแล้วครับ ยังไม่มีคำชี้แจงว่า ข้าราชการที่ถูกลงโทษมีความผิดหรือไม่อย่างไร ในขณะเดียวกัน ข้าราชการบางคนที่เขาพูดกันว่าเป็นคนสนิทนายทุนสามานย์กลับได้ดิบได้ดีมีตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น
2.สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีดาวเทียม ไอพีสตาร์ ตั้งแต่ 7 กันยายน 2564 จนถึง
ปัจจุบัน เรื่องยังเงียบสงบ ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายๆว่าดาวเทียมดังกล่าวอยู่ในสัญญาสัมปทานหรือไม่ และประเทศเสียประโยชน์เท่าไร ที่ผมพูดเป็นเรื่องง่ายๆก็เพราะมีคำพิพากษาของศาลฎีการองรับอยู่แล้ว
3.สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีลดโทษสุดซอยให้พวกอาชญากรทางเศรษฐกิจครบ 120 วัน ทุกอย่างเงียบสงบ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลยครับ เพียงแต่ดูว่ารัฐมนตรียุติธรรมและข้าราชการที่เกี่ยวข้องมีเจตนาอย่างไรในการพิจารณาที่จะเสนอลดโทษให้แก่นักโทษกลุ่มดังกล่าว เพราะทุกท่านต่างทราบกันดีว่า กลุ่มนักโทษพวกนี้คือพวกทำผิดร้ายแรงและเป็นภัยต่อสังคม การพิจารณาตั้งแต่เลื่อนชั้นนักโทษ จนการขอลดโทษ สมควรหรือไม่ที่จะได้รับการพิจารณา ถ้าไม่สมควร คณะบุคคลดังกล่าวมีเจตนาจะเอื้อประโยชน์ และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหรือไม่อย่างไร
ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการมิใช่ตั้งคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนรัฐมนตรีและคณะบุคคลที่อาศัยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่พวกตัวเองร่างขึ้นมา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลที่เป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจได้รับการลดโทษอย่างสุดซอย แต่ท่านนายกรัฐมนตรีกลับไม่ดำเนินการใด ๆ ทั้งที่มีหน้าที่อำนาจตามกฎหมาย นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ท่านได้แต่สั่งและไม่ติดตามผลงาน ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข ในเรื่องนี้ปัญหาที่จะแก้ไขก็เพียงแต่กำหนดในระเบียบเรื่องการเลื่อนชั้นนักโทษ เช่น กรณีนักโทษที่เป็นภัยต่อสังคม ต้องจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี จึงมีสิทธิที่จะได้รับพิจารณาเลื่อนชั้น และการเลื่อนชั้นต้องมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาเชิงประจักษ์ว่าทำคุณงามความดีอย่างไรที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักโทษโดยทั่วไป มิใช่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแต่ได้รับการเลื่อนชั้น เช่นอย่างทุกวันนี้ กรณีเช่นนี้ไม่ต้องถึงขั้นรัฐมนตรีหรือปลัด เด็กประถมก็สามารถพิจารณาได้ และสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นถึง พฤติกรรมการกระทำของรัฐมนตรีและคณะว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้พวกอาชญากรทางเศรษฐกิจเช่นที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่อย่างไร
4.เรื่องที่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมสั่งการเพราะกระทบกระเทือนต่อนายทุนสามานย์เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้รัฐบาลแก้ไขการสำรองไฟฟ้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และปัจจุบัน 2 ปีเศษแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรี ก็มิได้ดำเนินการใดๆ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
คำถาม เมื่อไหร่ท่านนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ให้สมกับที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ
เลือกท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแก้ไขในสิ่งผิด
8 ปีแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ดร.ณฐพร โตประยูร
อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
5 เมษายน 2565