ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #“คำนูณ” จับไต๋ 3 ร่าง กม.สำคัญ ตัดรัฐวิสาหกิจชั้นลูก-หลาน-เหลน พ้นกำกับรัฐ

#“คำนูณ” จับไต๋ 3 ร่าง กม.สำคัญ ตัดรัฐวิสาหกิจชั้นลูก-หลาน-เหลน พ้นกำกับรัฐ

22 November 2017
951   0

คำนูญ สิทธิสมาน อดีต สปท. ได้โพสข้อความทางเฟสบุ๊ค Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่า นิยาม ‘รัฐวิสาหกิจ’ ควรเป็นไฉน ? สัปดาห์หน้าจะมีร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของสนช. 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. … และร่างพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. …. สำคัญพอ ๆ กับกฎหมายเลือกตั้ง หรืออาจจะมากกว่าในบางมุมมองด้วยซ้ำ

มีประเด็นต้องเล่าสู่กันฟังมากครับ แต่วันนี้ขอเล่าเฉพาะประเด็นนิยามของคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ กันก่อน นิยามของ ‘รัฐวิสาหกิจ’ กำลังจะได้รับการแก้ไขใหม่ตามร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ใช้ข้อความเดียวกัน ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2 แตกต่างไปจากนิยามเดิมตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ที่ใช้บังคับมาเกือบ 60 ปี และยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ตามภาพที่ 3 จากเดิมที่นับความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ 4 ชั้น (แม่ ลูก หลาน เหลน) ตัดเหลือเพียง 2 ชั้น (แม่ ลูก) เท่านั้น เดิมความเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตามกฎหมายที่ใช้บังคับมาแล้วเกือบ 60 ปีและยังใช้บังคับอยู่ปัจจุบันนับ 4 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 : องค์การของรัฐ หรือบริษัท ที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50
ชั้นที่ 2 บริษัทลูก : ที่องค์กรของรัฐหรือบริษัทในชั้นที่ 1 ถือหุ้นเกินร้อยละ 50
ชั้นที่ 3 บริษัทหลาน : ที่บริษัทในชั้นที่ 2 และหรือชั้นที่ 1 ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50
ชั้นที่ 4 บริษัทเหลน : ที่บริษัทในชั้นที่ 3 และหรือชั้นที่ 2 และหรือชั้นที่ 1 ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50

นิยามตามร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับ ตัดชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ออก สามารถดูจากภาพประกอบที่ 4 ทีแรก ผมก็เชื่อว่าเป็นการเขียนให้สอดคล้องรับกันกับร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. หรือเรียกกันว่าร่างกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้ง ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสนช. โดยมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องที่กำหนดให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติแต่คุยไปคุยมากับพรรคพวก เกิดสงสัยขึ้นมา เลยกลับไปดู่ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ตั้งใจดูมาตราคำนิยามศัพท์ ‘รัฐวิสาหกิจ’ เพื่อมาเปรียบเทียบ อยู่ในร่างฯมาตรา 3 ปรากฎตามภาพที่ 5 ครับ ท่านแยกนิยามรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ประเภท

1. รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัด
2. รัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท

แต่ไม่ว่า 1. หรือ 2. ก็เหมือนกันคือนับแค่ชั้นเดียวนับแค่แม่ ไม่นับลูกหลาน และหากร่างพรบ.การพัฒนาการกำกับดูและและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. นี้มีผลบังคับใช้ออกมาโดยไม่มีการแก้ไขแล้ว รัฐวิสาหกิจประเภท 1 ก็จะหมดไปภายในเวลา 180 วัน หรือมากกว่าเล็กน้อย เหลือแต่ประเภท 2 เท่านั้น หรือต่อให้จะได้มีการแก้ไขไม่ให้มีการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติก็เถอะ หากนิยามในมาตรา 3 ยังคงไม่แก้ไข การก็จะเป็นเฉกเช่นเดียวกัน คือรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัดจะนับแค่ชั้นแม่ชั้นเดียวอยู่ดี

ผมเองมีความเห็นเบื้องต้นในระดับหนึ่งว่าหลักการในนิยามตามกฎหมายปัจจุบันตามภาพที่ 3 น่าจะยังเหมาะสมอยู่ เพราะแม้จะใช้นิยามปัจจุบัน บริษัทชั้นที่ 3 (หลาน) และชั้นที่ 4 (เหลน) ก็ไม่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้วถ้าองค์กรหรือบริษัทแม่ในชั้น 1 และหรือชั้น 2 (ลูก) และหรือชั้น 3 (หลาน) ถือหุ้นรวมกันไม่เกินร้อยละ 50 การเปลี่ยนนิยามใหม่จะทำให้บริษัทชั้น 3 และ 4 หลุดออดจากการกำกับดูแลของรัฐออกไปเลย ทั้ง ๆ ที่อาจยังมีสิทธิพิเศษที่ได้จากรัฐติดอยู่ และบริษัทในชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ยังถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 50

เฉพาะอย่างยิ่งถ้านิยามตามร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. จะหลุดออกจากการกำกับดูแลของรัฐไปตั้งแต่บริษัทชั้นที่ 2 เลย แม้จะอ้างว่ารัฐกำกับบริษัทแม่แล้วให้บริษัทแม่ไปกำกับบริษัทลูกหลานต่อเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนก็ตาม วันนี้เอาแค่หลักการก่อน ยังไม่ขอพูดถึงผลที่จะเกิดขึ้นโดยยกตัวอย่างรูปธรรมของรัฐวิสาหกิจแม่ที่มีลูกหลานเยอะนะครับ

สำนักข่าววิหคนิวส์