รวมโทษจำคุกเกิน 10 ปีแล้ว ! ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี 20 วัน คดี ม.112 “อานนท์ นำภา” ปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2
29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท
.
🔴 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่จำเลยเชิญชวนผ่านโซเชียลมีเดียให้มาฟังการปราศรัย ซึ่งถือเป็นการนัดหมายชุมนุม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนเริ่มต้นก็ตาม และการที่จำเลยปราศรัยบนรถกระบะเครื่องเสียง แปลว่าได้มีการเตรียมการมาไว้ล่วงหน้าแล้ว จำเลยเบิกความอีกว่าได้ปราศรัยจริง และเบิกความอีกว่าขณะนั้นมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้าใจได้ว่าจำเลยมีความมุ่งหมายตั้งแต่ต้นที่จะจัดกิจกรรม จึงเห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดมิใช่ผู้เข้าร่วม และแม้จะเบิกความว่าตนสวมหน้ากากอนามัย และยืนห่างกับผู้อื่น แต่จำเลยก็ไม่สามารถควบคุมให้ผู้ชุมนุมยืนห่างกันได้
จากการนำสืบว่าการชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพตามกฎหมาย พื้นที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่ง ไม่พบการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งรัฐธรรมนูญตามมาตรา 44 ได้รับรองไว้ แต่เห็นว่าชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งหลังจากพนักงานควบคุมโรคได้แจ้งประกาศเตือนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้ประชาชนยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อีกทั้งจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดก็ไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
.
🔴ข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
ตามที่พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนรถกระบะโดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน จึงฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง
.
🔴ข้อหาตามมาตรา 112
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และในมาตรา 50 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับความผิดเป็นพิเศษต่างจากคนทั่วไป
ประชาชนไทยมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ การกล่าวจาบจ้วง ล่วงเกิน เสียดสี เป็นการหมิ่นประมาท ข้อความที่กล่าวจะทำให้เสื่อมเสียหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาความรู้สึกของประชาชนไทยร่วมด้วย
เห็นว่า จำเลยกล่าวใส่ความรัชกาลที่ 10 ว่านำของที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นของตนเอง เป็นการหมิ่นประมาท แม้จำเลยจะเบิกความว่าเป็นการวิจารณ์ตรงไปตรงมา แต่ไม่อาจถ่ายทอดความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเท่านั้น เมื่อพิจารณาคำปราศรัยก็ไม่มีเหตุที่จะยกสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพมาทำให้เสื่อมเสีย ทำให้คนเห็นว่ารัชกาลที่ 10 มีความโลภ ใส่ความให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่สามารถหักล้างพยานพยานโจทก์ได้ และไม่มีเหตุยกเว้นความผิดในทำนองเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และ 330
.ข้อหามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษที่หนักที่สุด คือจำคุก 1 เดือน ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ให้ปรับ 150 บาท
การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อพิจารณา มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 3 ทำให้ข้อหามาตรา 112 คงจำคุก 2 ปี ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงจำคุก 20 วัน และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คงปรับ 100 บาท
รวมโทษเป็นจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท และให้นับโทษต่อจากสองคดีที่ศาลอาญาพิพากษาไปก่อนหน้า อีกทั้งให้ริบเครื่องปั่นไฟ ลำโพง เพาวเวอร์แอมป์ มิกเซอร์ เครื่องรับสัญญาณไมโครโฟน และไมโครโฟน ของกลางในคดีนี้
ผู้พิพากษาในคดีนี้ได้แก่ วีระ พรหมอยู่ และ ศุทธิ์สิริ พยัคฆโส
.
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ศาลก็สรุปโทษในคดีนี้ให้อานนท์ฟังอย่างเข้าใจง่ายอีกรอบ หลังจากนั้นประชาชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีก็เข้ามาให้กำลังใจอานนท์ และช่วยกันชำระค่าปรับโดยการนำเหรียญ 1 บาท 2 บาท และ 5 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 100 บาท เพื่อให้ทนายความของอานนท์ไปจ่ายค่าปรับต่อศาล
.