วันที่ 2 ส.ค. 65 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “กัลยา” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กระทง รวม 4 ข้อความ
คดีนี้จำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน อย่างไรก็ตามศาลจังหวัดนราธิวาส พิจารณาจากพยานหลักฐาน สรุปได้ว่า แม้ผลการตรวจสอบจะไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มีนายพสิษฐ์ (สงวนนามสกุล) มาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าจำเลยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กโดยมีบุคคลอื่น คือแฟนของจำเลยเข้าไปใช้ได้ หากแต่เมื่อเดือน ธันวาคม 2563 ทั้งคู่ได้เลิกกันและได้มีการเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊ก ศาลจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้องดังกล่าว
ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อความตามฟ้อง ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าข้อความทั้งหมดของจำเลย หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ข้อความมีลักษณะเจตนามุ่งหมายให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ศาลจึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี สองกระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม นอกจากต้องวางหลักทรัพย์เพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่วางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์
ทั้งนี้พบว่า กัลยา เมื่อเดือนธันวาคม 2564 เว็บไซต์ freedom.ilaw.or.th ได้เปิดเผยบทสัมภาษณ์กัลยา ระบุตอนหนึ่งว่า ในช่วงปี 2563-2564 ระหว่างที่บรรยากาศการเมืองของประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น และประเด็นในการเคลื่อนไหวก็ขยับขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน “กัลยา” พนักงานบริษัทเอกชน เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทั้งการไปเข้าร่วมการชุมนุม และการโพสต์ข้อความลงโซเชียลเหมือนเช่นคนอื่นๆ “กัลยา” อายุ 27 ปีในวันที่ได้รับหมายเรียก เป็นพนักงานบริษัทเอกชน อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี “กัลยา”ชื่นชอบทั้งเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเด็ก สนใจในด้านการเมืองมากขึ้นเมื่ออยู่มัธยม และมีความฝันอยากจะเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ แต่ครอบครัวก็ยังมีความเชื่อที่ทำให้รู้สึกกังวลว่า หากเรียนด้านนิติศาสตร์แล้วว่าความชนะคดี แต่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้ อาจจะทำให้โดนฆ่าได้ “กัลยา” จึงเลือกเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอกการเมืองการปกครองแทน เพื่อความสบายใจของครอบครัว ในช่วงชั้นปีสามของการเรียนมหาวิทยาลัย “กัลยา” มีโอกาสได้เข้าเรียนรายวิชาการปกครองกับอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ทำให้ได้รับรู้ข้อดีข้อเสียของการเมืองไทย และมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยผ่านข้อสอบที่อาจารย์ให้ในห้องเรียน การเข้าเรียนรายวิชานี้จึงเปรียบเหมือนเป็นการเปิดมิติใหม่ให้เธอเข้าสู่โลกที่ติดตามการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น และติดตามเรื่อยมา