ศาลเชียงใหม่พิพากษาจำคุกช่างสัก “พึ่งบุญ” คดีเขียน “ประเทศทวย” บนป้ายจราจร 2 ปี ปรับ 60,000บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ ศาลยกเหตุทำให้ป้ายเปลี่ยนความหมาย ทำลายทรัพย์สินสาธารณะแม้จะลบทำความสะอาดได้แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นไปแล้ว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเมื่อวานนี้(2 ส.ค.65) ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาในคดีของ พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก ที่ถูกฟ้องในข้อหาทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 จากกรณีขีดเขียนข้อความ “ประเทศทวย” ลงบนแผ่นป้ายจราจรและเสาไฟฟ้า 14 จุด ในเมืองเชียงใหม่
พึ่งบุญ ใจเย็น แฟ้มภาพ
ทั้งนี้พึ่งบุญต่อสู้ในคดีนี้ว่า แม้จะได้ก่อเหตุจริงแต่การขีดเขียนป้ายจราจรไม่ใช่การทำลาย ทำให้เสียหาย หรือทำให้เสื่อมค่า จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 360 สามารถทำให้กลับสู่สภาพเดิมได้ด้วยการลบ และยังมีกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ กำหนดความผิดเรื่องการขีดเขียนป้ายจราจรไว้โดยเฉพาะแล้ว อีกทั้งการเขียนป้ายจราจรของจำเลยเป็นลักษณะ “กราฟฟิตี้” ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบหนึ่ง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปได้ว่าโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 มีนาคม 2563 จำเลยใช้ปากกาเมจิกจำนวนหลายด้าม ขีดเขียนป้ายจราจร และเสาไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณเกาะกลางรวม 14 จุด ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อแจ้งสัญลักษณ์การจราจรและให้แสงสว่างแก่ประชาชนโดยทั่วไปซึ่งเป็นสาธารณะประโยชน์ เป็นเหตุให้ป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าส่องสว่างดังกล่าวเสียหาย ถูกทำลาย เสื่อมค่าลง คิดค่าเสียหาย 37,600 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 33
ทั้งนี้ศาลเห็นว่า แม้จำเลยรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความจริง แต่เป็นการเขียนข้อความตามที่เจ้าพนักงานบอกให้เขียน เป็นงานศิลปะแนวกราฟฟิตี้ จำเลยไม่มีเจตนาทำลายทำให้เสียหายหรือเสื่อมค่า จำเลยได้จัดวางองค์ประกอบการเขียนข้อความ จึงไม่ทำให้การสื่อความหมายผิดเพี้ยนไป และคำว่า “ประเทศทวย” นั้น คำว่า “ทวย” แปลว่า หมู่ เหล่า รวมแล้วแปลว่า “ประเทศของเรา” โดยจำเลยใช้ปากกาเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายสีสเปรย์เขียนและสามารถลบออกได้
แต่พยานฝ่ายโจทก์ในคดีได้ให้การว่าให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดแต่เช็ดไม่ออก จึงใช้ทินเนอร์เช็ดที่เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ปรากฏว่าสามารถเช็ดออกได้ แต่การใช้ทินเนอร์ทำให้ป้ายจราจรหลุดลอกและบิด ส่วนที่เป็นพื้นผิวเกิดความขุ่นมัว แม้จะมีการแก้ไขก็อาจจะไม่สามารถใช้ได้อย่างคงทนถาวร จึงสั่งให้เปลี่ยนป้ายใหม่ อีกทั้งพยานอีกปากยังระบุว่าข้อความในคดีนี้ทำให้ความหมายของป้ายผิดเพี้ยนสภาพป้ายเปลี่ยนแปลงไปทำให้ป้ายจราจรเสื่อมค่าลง
ศาลระบุว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 การทำให้ทรัพย์นั้นหมดสภาพทรัพย์เดิมไปทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้เสื่อมค่าหมายถึง การทำให้มูลค่าของทรัพย์นั้นลดลง แต่ไม่ถึงกับเป็นการทำลาย และการทำให้ไร้ประโยชน์ หมายถึงการทำให้ใช้การไม่ได้ แม้ตัวทรัพย์ยังคงสภาพอยู่
ศาลจึงเห็นว่าแม้พึ่งบุญจะต่อสู้ว่าเป็นงานศิลปะแนวกราฟฟิตี้ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเพราะไม่ใช่องค์ประกอบความผิด และเมื่อจำเลยกระทำต่อทรัพย์ซึ่งเป็นป้ายสัญญาณจราจร ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลได้ว่าเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่มีไว้หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่เนื่องจากเสาไฟไม่เสียหายจึงลงโทษแค่กรรมเดียว
ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 60,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสังคม ด้านทำความสะอาดหรือซ่อมแซมป้ายสัญญาณจราจร หรือทำความสะอาดทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 48 ชั่วโมง
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวจำเลยไปยังห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอการชำระค่าปรับ ต่อมาทางจำเลยได้ตัดสินใจชำระค่าปรับเป็นเงิน 39,500 บาท (ลดลง 500 บาท เนื่องจากศาลกักขังแทนค่าปรับในวันนี้) โดยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฏรประสงค์