อัยการ ยื่นฟ้อง ‘ชวน’ หมิ่นประมาท “ทักษิณ” ปม กรือเซะ-ตากใบ
วันที่ 25 ตุลาคม 65 ที่ผ่านมา พนักงานอัยการนำตัว นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มายื่นฟ้องในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ” ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง จากกรณีเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2555 นายชวน ได้ปราศรัยถึงนโยบายจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งสมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีความผิดพลาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้พนักงานสอบสวน สน.วัดพระยาไกร ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ เเละไม่ฟ้องในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้พนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 ซึ่งคดีจะหมดอายุความ ในวันที่ 28 ต.ค.65
ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จากการที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้มอบอำนาจให้ทนายความแจ้งความดำเนินคดี “นายชวน หลีกภัย” จากเหตุการณ์วันที่ 28 ต.ค. 2555 เมื่อครั้งที่ นายชวน หลีกภัย ได้ไปบรรยายในงานโรงเรียนการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้พูดถึงกระบวนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อครั้งนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดความผิดพลาด
“ทักษิณ ชินวัตร” จึงมอบอำนาจให้ทนายความแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง เฉพาะข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต่อมาพนักงานสอบสวนมีการนัดหมายเวลา แต่เนื่องจากมีเวลาไม่ตรงกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งคดีเงียบหายไป จนทุกฝ่ายคิดว่าคดียุติไปแล้ว แต่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวยังไม่ยุติ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการก็เห็นควรสั่งฟ้องเช่นกัน
เมื่อตนได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนว่า คดีดังกล่าวจะหมดอายุความวันที่ 28 ตุลาคม 2565 และให้ไปพบพนักงานอัยการในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เพื่อนำตัวส่งพนักงานอัยการเพื่อส่งตัวฟ้องศาล เวลาที่เหลือมีแค่ 3 วันก็จะหมดอายุความ (อายุความคดีนี้ 10 ปี) ความหมายคือคดีนี้จะยุติด้วยเหตุหมดอายุความในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 นี้ และจะไม่สามารถดำเนินคดีกับนายชวน หลีกภัย ได้อีกต่อไป
จากนั้นตนก็ได้รับโทรศัพท์จากท่านชวน หลีกภัย ที่สอบถามถึงเรื่องคดีนี้ โดยสาระสำคัญหลักการที่ท่านชวนย้ำอย่างชัดเจนคือ “ราเมศอย่าให้คดีขาดอายุความ องค์กรตำรวจ องค์กรอัยการจะเสียหาย ได้ จะต้องยึดหลักในการเคารพกฎหมาย ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ผมพร้อมสู้คดี”
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ตนในฐานะทนายความ ดำเนินการประสานทุกฝ่ายเพื่อเข้าพบพนักงานอัยการส่งตัวฟ้องศาล พิมพ์ลายนิ้วมือ เดินทางไปพบพนักงานอัยการ และไปศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อให้พนักงานอัยการได้นำตัวไปฟ้องต่อศาล และทำการประกันตัว
จากการที่เหลือเวลาเพียง 3 วัน ที่จะขาดอายุความ มีคนแนะนำว่าให้ดึงเวลาเพื่อให้ขาดอายุความคดีจะได้จบไป แต่ท่านชวน หลีกภัย ไม่เลือกเส้นทางดังกล่าว แต่ยังคงยึดมั่นในหลักการความถูกต้อง เป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
นายราเมศ ยังระบุในตอนท้ายว่า ในส่วนของเนื้อหาคดีขออนุญาตไม่กล่าวถึง แต่งานนี้รับประกันว่า น่าติดตามชมไม่น้อยกว่าคดียุบพรรค และคดีทุจริตจำนำข้าว เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่กรือเซะ เหตุการณ์ที่ตากใบ เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์จากการปราบปรามยาเสพติด จะถูกยกขึ้นมาชำแหละอีกรอบหนึ่งผ่านคดีนี้ อย่างแน่นอน