เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #จะทำอย่างไรดี…!กับภาระกิจถ่ายโอนแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น 175,096 แห่ง !!

#จะทำอย่างไรดี…!กับภาระกิจถ่ายโอนแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น 175,096 แห่ง !!

18 September 2022
268   0

 

สืบเนื่องจากเมื่อคราว นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีบ้านเรือนและที่ทำกินประสบปัญหาแม่น้ำเลยกัดเซาะตลิ่งในพื้นที่เทศบาลตำบลปากปวน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

โดยนางสาวณิชกานต์ ดวงศรี นายกเทศมนตรีตำบลปากปวน ได้นำคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ซึ่งต้องเดินเท้าราวสองกิโลเมตรจนถึงจุดตั้งฝายห้วยปวน ในพื้นที่หมู่ 12 บ้านป่าเป้า ได้รับโอนจากกรมชลประทานก่อสร้างเมื่อปี 2539 ให้อยู่ในความดูแลของเทศบาล ถูกน้ำกัดเซาะจนตัวฝายเสียหาย เทศบาลไม่มีงบประมาณพอที่จะซ่อมสร้างใหม่ได้ การใช้เทคนิคซอยล์ซีเมนต์แก้ปัญหาซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ดมาแล้ว

ภารกิจสำคัญตามแนวทางการกระจายอำนาจ (Decentralization) ที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ต้องการมุ่งเน้น “การถ่ายโอนภารกิจ” หมายถึง การที่ราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาคจะลดหรือยุติบทบาทจากผู้ปฏิบัติ เปลี่ยนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติแทน โดยมาตรา 12 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีการจัดแบ่งภารกิจที่จะต้องถ่ายโอนออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ด้านการบริหารจัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สรุปจำนวนภารกิจที่กำหนดให้มีการถ่ายโอนตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 245 เรื่อง จากส่วนราชการ 57 กรม ใน 15 กระทรวง
1 หน่วยงานอิสระ และแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจ จำนวนทั้งสิ้น 45 ภารกิจ รวม 114 งาน/โครงการ/กิจกรรม จากส่วนราชการ 37 กรม/สำนักใน 15 กระทรวง 1 หน่วยงานอิสระ และ 1 รัฐวิสาหกิจ

แผนการกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 1 กำหนดระยะเวลาการถ่ายโอน แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ระยะเวลา 1 – 4 ปี (พ.ศ. 2544 – 2547) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ และแล้วเสร็จภายใน 4 ปี และระยะที่ 2 ระยะเวลา 1 – 10 ปี (พ.ศ.2544 – 2553)

การโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำ ข้อมูลจาก เว็บไซต์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ สทนช.ระบุว่า มี 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง และ ส.ป.ก. ที่ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว
จำนวน 175,096 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือ แหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบประปา สิ่งก่อสร้างอุปกรณ์กักเก็บน้ำ

กรมทรัพยากรน้ำมีการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำมากที่สุดคือจำนวน 107,469 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นระบบน้ำประปาบาดาล เน้นเพื่อการอุปโภคบริโภค โรงผลิตประปา ระบบประปาหมู่บ้าน อาคารบริการน้ำดื่ม

กรมประมงถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำเป็นอันดับ 2 จำนวน 20,662 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหนองน้ำธรรมชาติ และ สระน้ำ

กรมชลประทานถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำ เป็นอันดับ 3 จำนวน 18,735 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ สระน้ำ คลอง เฉพาะสิ่งก่อสร้าง-อุปกรณ์กักเก็บน้ำมีจำนวนถึง 13,207 แห่ง เช่น ระบบชลประทาน อาคารทดน้ำ ระบบสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เขื่อนป้องกันตลิ่ง อาคารแบ่งน้ำ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรทั้งสิ้น

กรมทรัพยากรน้ำถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำ 18,527 แห่ง เป็นประปาบาดาลทั้งหมด

กรมพัฒนาที่ดินถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำ 3,654 แห่ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ 712 แห่ง และ ส.ป.ก 5,337 แห่ง

คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญ แหล่งน้ำเพื่อภาคการผลิตการเกษตรเนื่องจากเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ มีผลต่อผลผลิตการเกษตรและการเพิ่มรายได้ของประชาชน ตลอดร่วมสามปีที่ผ่านมาที่เดินทางไปพื้นที่หลายจังหวัดทั่วทุกภาค มักจะพบปัญหาเช่นเดียวกับเทศบาลตำบลปากปวน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กรณีฝายห้วยปวนในพื้นที่หมู่ 12 บ้านป่าเป้าได้รับโอนจากกรมชลประทานเช่นเดียวกัน

เราปรึกษาหารือกันบ่อยครั้ง โดยอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านชลประทานกว่า 30 ปี ได้เสนอแนวคิด ด้วยเจตนาดีมุ่งหวังเพื่อให้สามารถนำสิ่งก่อสร้างภารกิจด้านแหล่งน้ำนำกลับมาใช้ได้อีกในเวลาที่รวดเร็ว ใช้งบประมาณน้อยด้วยเทคนิคซอยล์ซีเมนต์ ตามที่ได้เสนอแนวคิดไปสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่อง ’เงินฝังดิน 2.5 แสนล้าน!!’

ผู้มีประสบการณ์ด้านชลประทานที่เสนอความเห็นดังกล่าว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ‘นับตั้งแต่มีการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำตั้งแต่ปี 2546 (ฝายหัวเสือและระบบส่งน้ำ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่) เป็นต้นมา กรมชลประทานมีความห่วงใยถึงองค์ความรู้ การใช้ บำรุงดูแลรักษา และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้การชลประทานมีประสิทธิภาพสูงสุด’

‘กรมชลประทานได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการชลประทานที่รับการถ่ายโอนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย’

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ‘ข้อคิดเห็น และการดำเนินการของกรมชลประทานดังกล่าวข้างต้นเป็นคุณูปการต่อการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำอย่างยิ่ง และเมื่อพิจารณาประเภทแหล่งน้ำ 18,735 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องการผลิตภาคเกษตรโดยตรง อยู่ในระดับนโยบายประเทศที่จะแก้ไขซ่อมแซมได้ด้วยเทคนิคดินซีเมนต์ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน งบประมาณน้อย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะผลักดันต่อไป’

‘ทราบมาว่าตามแผนดำเนินการ (Road map) การจัดทำข้อมูลแผนการโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 สทนช.ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำแผนปฏิบัติการแหล่งน้ำที่รับการถ่ายโอน แผน ปฏิบัติการปรับปรุงแหล่งน้ำ ก่อนและหลังปี 2551 และจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อขอจัดสรรรับงบประมาณ คณะกรรมาธิการจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและเสนอแนะข้อคิดเห็นและแนวทางที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้’ นายสังศิตกล่าวในที่สุด

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา

17 กันยายน 2565