ก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ส.ส.ร. 100% หวังประธานรัฐสภาทบทวนคำตัดสินที่ปัดตกร่างของเพื่อไทย พร้อมบรรจุทั้ง 2 ฉบับเข้าวาระประชุม เหตุไม่ขัดคำวินิจฉัยศาล ชี้ หากอยากให้ภารกิจฟื้นฟูประชาธิปไตยสำเร็จ ต้องจัดทำใหม่ทั้งฉบับให้มีความชอบธรรม
15 มี.ค.2567 – ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญขีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่อง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ปรธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน
โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล ในการมายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญ ในการจัดให้มี ส.ส.ร.ที่มาการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน เพื่อมาเดินหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการยื่นร่างแก้ไขฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
อย่างที่ทราบว่า แม้ทางนายกรัฐมนตรี ได้เคยประกาศไว้ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ว่าวาระเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นวาระที่เร่งด่วน แต่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า สังคมนั้นอาจยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ประเทศเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และภายในเมื่อไหร่
และแม้คณะกรรมการศึกษาที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ซึ่งมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนั้น ได้มีการแถลงเมื่อเดือนธันวาคมปี 2566 เพื่อเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการจัดทำประชามติครั้งที่ 1
แต่ในอีกมุมนึง เราก็เห็นถึงกรณีที่ สส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ได้มีการเลือกเส้นทาง ในการพยายามเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ก็ต้องเริ่มต้นจากการที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สส.พรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องนี้ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา
จุดยืนพรรคก้าวไกล ในเรื่องของจำนวนประชามติ เรายืนยันมาตลอดว่า เราเข้าใจถึงเหตุผลทางการเมืองที่จะทำให้หลายฝ่ายนั้น มองถึงความจำเป็นว่า มีประโยชน์ในการจัดประชามติเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง แต่เรายืนยันมาตลอดเช่นกันว่า หากเราจะยึดตามกฎหมาย ยึดตามรัฐธรรมนูญ ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจัดประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งนั้นก็เพียงพอแล้วในเชิงของกฎหมาย
ดังนั้น ในวันนี้ที่พรรคแกนนำรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย ได้ทำตามสูตรประชามติ 2 ครั้ง ทางพรรคก้าวไกล เราจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่อง ส.ส.ร.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
โดยเนื้อหาสาระที่เรายื่นเข้าในวันนี้ คือการเพิ่มบท 15 / 1 เกี่ยวการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญ 10 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.เสนอให้ ส.ส.ร.ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทที่ 1 ส.ส.ร.แบบแบ่งเขต 100 คน โดยให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และให้ผู้สมัครนั้น สมัครเข้ามาเป็นรายบุคคล เพื่อให้ประชาชนเลือกผู้สมัครได้ทีละคน และเรียงลำดับคะแนนตามผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด
ประเภทที่ 2 ส.ส.ร.แบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน โดยจะใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และเปิดให้ผู้สมัครนั้น สามารถสมัครเข้ามาได้เป็นทีม เพื่อให้ประชาชนนั้น มีสิทธิ์ในการเลือกหนึ่งทีม และแต่ละทีมนั้น จะได้จำนวนที่คำนวณตามสัดส่วนคะแนน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ระบบเลือกตั้งที่มี ส.ส.ร.ทั้ง 2 ประเภทแบบนี้ เราเชื่อว่าจะทำให้ ส.ส.ร.มีตัวแทนที่มีความหลากหลาย มีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ ตัวแทนกลุ่มอาชีพ และกลุ่มสังคม
2.กำหนดให้ ส.ส.ร.นั้น มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ตราบใดที่ไม่ทำให้การปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255
3.กำหนดให้ ส.ส.ร.มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วันในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ ส.ส.ร.มีเวลาเพียงพอในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และมีเวลาในการทำงานยกร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ แต่ก็เป็นเวลาไม่นานจนเกินไป ที่จะทำให้กระบวนการนั้นยืดเยื้อ จนทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ล่าช้าเกินจำเป็น
4.มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร ส.ส.ร.ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล ว่าอายุขั้นต่ำการรับเลือกตั้งนั้น มักจะเป็นอายุเดียวกันกับอายุขั้นต่ำในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามหลักการที่ว่า ‘ถ้าคุณโตพอที่จะเลือกตั้งได้ คุณก็โตพอที่จะสมัครได้’
5.กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งคณะ โดยในคณะกรรมาธิการยกร่างคณะนี้ จะต้องประกอบไปด้วย ส.ส.ร.อย่างน้อย 2 ใน 3 ของกรรมาธิการ เพื่อให้กรรมาธิการดังกล่าวนั้น มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่จะมีการเปิดพื้นที่ที่เหลือให้กับคนนอกสามารถมาเป็นกรรมาธิการได้ ตามที่ ส.ส.ร.คัดเลือก และอนุกรรมาธิการนั้น อาจจะมีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ที่อาจจะไม่ลงรับเลือกตั้งโดยตรง
6.กำหนดไว้ว่า การจะให้มีการจัดทำประชามติหลังจากที่ ส.ส.ร.ได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องถามพี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า เห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแนวทางนี้ก็เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
7.กำหนดให้ ส.ส.ร.มีอำนาจในการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา และให้ความเห็นชอบ โดยหาก ส.ส.ร.จัดทำ พ.ร.ป.เสร็จแล้วส่งไปให้รัฐสภา และรัฐรัฐสภาเห็นชอบฉบับไหน รัฐสภาก็จะรับ พ.ร.ป.ดังกล่าวนั้น ไปจัดทำต่อเอง
8.กำหนดไว้ว่า ให้ ส.ส.ร.สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภา หรือการที่สภาผู้แทนราษฎรหมดวาระ เพื่อให้กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สะดุดลง และมีความต่อเนื่องราบรื่น
9.กำหนดไว้ว่า ใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.จะถูกกำหนดให้ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น สส. สว. รัฐมนตรี ผู้บริหารสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือตุลาการ สามารถเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ภายใน 5 ปี เพื่อป้องกันเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน
และ 10.มีการปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดก็ตาม จะกระทำได้หากรัฐได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกรณีที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการแก้ไขที่นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องมีการทำประชามติเพิ่มขึ้นมา และร่างดังกล่าว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติด้วยเช่นกัน
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ทางพรรคก้าวไกล เราเข้าใจและทราบข่าวมาว่า ทางประธานรัฐสภานั้น ได้ตัดสินใจไม่บรรจุร่างแก้ไขเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ที่ถูกเสนอโดย สส. พรรคเพื่อไทย เมื่อตอนต้นปี เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 กำหนดว่า จะต้องการมีการจัดทำประชามติก่อน จึงจะสามารถเสนอร่างดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้
นายพริษฐ์ ยืนยันว่า ในมุมมองของพรรคก้าวไกล เรามองว่า การกระทำดังกล่าวของประธานรัฐสภา เป็นการตีความคำวิวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นการตัดสินใจที่เราไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ประธานรัฐสภาควรจะทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว และตัดสินใจบรรจุแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. ทั้งฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นไปแล้ว และฉบับของพรรคก้าวไกลที่ยื่นในวันนี้ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาร่วม
นายพริษฐ์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเราเห็นว่า ร่างแก้ไขทั้ง 2 ร่างนั้น ไม่ได้มีขั้นตอน หรือมีเนื้อหาสาระประการใดที่ติดขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่เพียงกำหนดไว้ว่า ให้มีประชามติ 1 ครั้ง ก่อนจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอีก 1 ครั้ง หลังจากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ภารกิจในการฟื้นฟูประชาธิปไตย จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากเราไม่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย พวกเราพรรคก้าวไกลจึงหวังว่า การยื่นร่างแก้ไขธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ในวันนี้ จะเป็นบทบาทสำคัญในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย เพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าว