เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #จะยุ่งแค่ไหน? ! อดีตผู้พิพากษา ชี้หากรธน. 60 ดันมีผลย้อนหลัง นายก 8 ปี

#จะยุ่งแค่ไหน? ! อดีตผู้พิพากษา ชี้หากรธน. 60 ดันมีผลย้อนหลัง นายก 8 ปี

8 September 2022
256   0

 


“อดีตผู้พิพากษา” ชี้ประเด็น จะยุ่งเหยิงขนาดไหน ถ้า “นายกฯเกิน8ปี” มีผลย้อนหลัง เพราะมีถึง 3คน “พุทธะอิสระ” ย้ำรธน.60 มีผลย้อนหลังหรือไม่ “นิพิฏฐ์” เหน็บ “มีชัย” โคตรเซียน การตีความกฎหมายต้องดู “อยู่ฝ่ายไหน”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(7 ก.ย.65) นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

“…..หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 มีนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมีระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี คือ

…..1. จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 14 ปี 11 เดือน

…..2. จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน

…..3. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน

158 วรรค 4 ที่บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้

…..มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อปี 2560 ด้วย

…..ท่านนายกรัฐมนตรีทั้งสามท่านดังกล่าวก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 8 ปี ระยะเวลาที่เกินจาก 8 ปี ย่อมเป็นการดำรงตำแหน่งที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

…..เมื่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีของท่านทั้งสาม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

…..การปฏิบัติหน้าที่ของท่านทั้งสามในฐานะนายกรัฐมนตรีในทุกกรณีที่ได้กระทำไปและมีการยึดถือปฏิบัติกันตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันต้องถือไม่ได้มีกระทำนั้นๆ เลย และที่ยึดถือปฏิบัติกันมาก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบกฎหมาย

…..ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศชาติบ้านเมืองจะยุ่งเหยิงวุ่นวายขนาดไหน”(จากไทยโพสต์)

ภาพ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “พุทธะอิสระ” จากแฟ้ม
ภาพ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “พุทธะอิสระ” จากแฟ้ม


ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “พุทธะอิสระ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ถามมา ตอบไป

ที่ผมถามท่านไปว่า ท่านคิดอย่างไร กับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบแปดปีตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี ๖๐

ตอบ
ฉันก็ถามคุณไปเหมือนกัน มิใช่หรือว่า

คุณตอบฉันได้หรือไม่ว่า ในปีที่พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในรัฐบาล คสช. มีรัฐธรรมนูญฉบับปี ๖๐ แล้วหรือยัง

คุณก็ยังไม่ตอบ

แล้วรัฐธรรมนูญปี ๖๐ มีผลย้อนหลังหรือไม่ คุณก็ยังไม่ตอบ

แล้วจะมาคาดคั้นให้ฉันตอบคำถามของคุณมันจะถูกหรือ

หากสงสัยจริง ก็ลองไปอ่านบทความของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ดูก็น่าจะเข้าใจ”

ภาพ นายจาตุรนต์ ฉายแสง จากแฟ้ม
ภาพ นายจาตุรนต์ ฉายแสง จากแฟ้ม


ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“เห็นกบดานอยู่นาน นึกว่าคุณมีชัยจะมีทีเด็ดอะไร ถึงเวลากลายเป็นกระสุนด้านให้ขายหน้าเสียเปล่าๆ

ที่คุณมีชัยบอกว่า ให้นับเวลาตั้งแต่ ปี 60 ที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับนั้น เป็นเพราะอ้างว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 264 บัญญัติว่า ครม.ที่เป็นอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับเป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็คือต้องนับมาตั้งแต่ปี 2557 คือตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯมาแต่แรก

คำชี้แจงของคุณมีชัยย้อนแย้งกันเอง แบบหาตรรกะเหตุผลไม่ได้

แต่ที่สำคัญก็คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ถามความเห็นส่วนตัวในปัจจุบันของคุณมีชัย แต่ถามถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าไม่มีบันทึกไว้ก็ต้องให้คุณมีชัยกับพวกมาเล่า แต่เมื่อมีการประชุมหารือและบันทึกไว้ก็ต้องดูตามที่บันทึกไว้

คุณมีชัยดูจะทำอะไรแบบรีบๆอยู่บ่อยๆ และในเรื่องนี้ก็ทำแบบรีบๆถึงสองครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน

รีบที่หนึ่งคือตอนที่คณะกรรมการรับรองรายงานการประชุม คุณมีชัยคงเห็นว่าไม่มีอะไรจะแก้หรือไม่ทันนึกอะไรก็เลยปล่อยผ่านไป แล้วก็จำไม่ได้ว่าที่ประชุมรับรองบันทึกการประชุมในวันที่ 7 ก.ย. 2561 ไปแล้ว หรือไม่ก็แกล้งทำเป็นจำผิด

มาตอนนี้ก็รีบอีกคือรีบบอกว่าบันทึกการประชุมครั้งนั้น ผู้จดบันทึกคิดไปเองและไม่ได้มีการรับรอง

แต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า คณะกรรมาธิการฯรับรองรายงานการประชุมไปแล้ว จึงต้องถือตามรายงานการประชุมนั้น

ความเห็นของคุณมีชัยในวันนี้ จึงไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร จะมีก็แต่ความเสียหายต่อคุณมีชัยเองที่ไม่มีหลักการอะไรและยังมาลักไก่ให้คนเขาจับได้ ขายหน้าเขาไปทั่ว”

ภาพ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากแฟ้ม
ภาพ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากแฟ้ม


ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า

“อธิบายเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล

-อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นนักกฎหมายชั้นเซียนที่เอกอุ ยากที่นักกฎหมายคนใดในใต้ฟ้าเมืองไทยจะต่อกรได้ ต้องยอมรับว่า ผมชื่นชอบท่านในทางกฎหมาย

-แต่คราวใดก็ตามที่หลักกฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการเมือง การให้ความเห็นทางกฎหมายของอาจารย์มีชัย มักมีข้อโต้แย้งได้เสมอ การรับฟังอาจารย์มีชัย จึงต้องแยกเป็น 2 ส่วนว่า ท่านกำลังอธิบายข้อกฎหมายล้วนๆ หรือ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง ถ้าอธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง ก็ต้องดูว่า อาจารย์มีชัย เป็นขั้วไหนทางการเมืองด้วยเสมอ อาจารย์มีชัย กับ ดร.วิษณุ จะเหมือนกันตรงที่ต้องดูว่า ท่านอยู่ฝ่ายไหนของการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมืองจึงนิยมนำอาจารย์มีชัย และ ดร.วิษณุ มาอยู่ข้างกายเสมอ จนเป็นตำนานทางการเมืองของประเทศนี้ไปแล้ว

-ผมยืนยันอีกครั้งว่า การอธิบายการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ใช้หลักกฎหมายพื้นฐาน ย้ำว่าพื้นฐานมากๆเสียด้วย หลักการนี้ นักกฎหมายน่าจะเรียนกันตั้งแต่เทอม 1 ปี 2 ของการเรียนกฎหมาย เรื่องนี้ ง่ายเข้าไปอีกตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยมีการวินิจฉัยการดำรงตำแหน่ง”ต่อเนื่อง” ของรัฐมนตรีมาแล้ว สามารถนำมาเทียบเคียงได้ เพราะนายกรัฐมนตรีก็คือรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

-ผมคิดว่า นักกฎหมายตัวน้อยๆ ก็สามารถโต้แย้งคำอธิบายของ อ.มีชัย ได้ แต่อย่าเขียนให้มากความเลย เพราะคดีอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาล จะมีปัญหาเปล่าๆ

-เวลาเรายกเหตุผลอะไรมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีหลักในการอธิบายอยู่ 2 ประการ คือ

1.เรากำลังอธิบายเหตุผลในสิ่งที่มีเหตุผล เช่น อธิบายว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เกิดจากอะไร 2.เรากำลังอธิบายเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล

-ใครอธิบายเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ได้”โคตรเซียน” เลย”

แน่นอน, เห็นได้ชัดว่า ไม่มีใครน่าเชื่อถือเลย สำหรับการเมืองไทยนาทีนี้ แม้แต่คนที่เป็น “นักวิชาชีพกฎหมาย” ซึ่งสังคมไทยต้องการที่พึ่งในการ “ตีความกฎหมาย” เพราะถือว่า เป็น “ผู้รู้” ของสังคม ต่างก็มีฝักฝ่ายทางการเมืองกันหมด

ทั้งยัง “ตีความกฎหมาย” แบบ “ยุทธศาสตร์” คือ เพื่อต่อสู้กับอีกฝ่าย

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การตีความ “ปม 8ปี” พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาเป็น “สองฝ่าย” หรือ “สองขั้ว” กล่าวคือ ขั้วหนึ่งที่ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ หมดอำนาจ และหยุดเผด็จการ คสช. ก็ตีความแบบหาข้อโต้แย้งมายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบ 8 ปีแล้ว โดยชักแม่น้ำทั้ง 5 ขึ้นมาชี้นำ

ส่วนฝ่ายที่ยังสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะตีความเพื่อให้เห็นว่า “รัฐธรรมนูญ 2560” ไม่มีผลย้อนหลังเด็ดขาด และพล.อ.ประยุทธ์ ถูกจำกัดในตำแหน่ง 8ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

เมื่อเป็นการตีความแบบ “ยุทธศาสตร์” จึงไม่มีความเป็นกลาง หรือ ความยุติธรรมเท่าที่ควร หรือ พูดง่ายๆว่า มีอคติในการตีความอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ การรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และเป็นกลาง มีคณะตุลาการถึง 9 คน จึงมีความจำเป็นอย่างสูง ถ้าใครจะบอกว่า ไม่ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือพวก “ศาลเตี้ย” เพราะไม่เคารพกฎหมาย และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังชักนำให้สังคมไทยไขว้เขวขัดแย้งแตกแยกเข้าไปใหญ่

อย่าลืมว่า การตัดสินกันเองอย่างนี้ ไม่มีทางจบ เพราะต่างฝ่ายก็เข้าข้างตัวเอง จริงหรือไม่ก็น่าจะรู้อยู่แล้ว