20 มี.ค.61- การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีวาระพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ตามที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เป็นผู้เสนอ
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติองค์ประกอบอำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ให้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ตำรวจ ยกเลิกอำนาจการคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. แก้ไขปรับปรุงหน้าที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีอำนาจพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.
แก้ไขกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจทุกระดับและกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระดับกองบัญชาการ ทำหน้าที่แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
นอกจกนี้ยังกำหนดพิจารณาบำเหน็จความชอบเลื่อนเงินเดือนเป็นรูปแบบคณะกรรมการ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาร้องทุกข์เป็นหลักประกันการตรวจสอบการใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย
ก่อนนี้นายมานิจ สุขสมจิตร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เปิดเผยว่ามีการพูดถึงประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคลเสนอให้พิจารณา งานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง 13.56-22.57เท่า ซึ่งในต่างประเทศนั้นค่าตอบแทนของตำรวจชั้นประทวนกับค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วน ความเสี่ยง 1.28 ต่อ 1 ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน 1.74 ต่อ 1
จากผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่าข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามซึ่งมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุนคิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.66 ต่อ 2.97 จึงควรได้รับเงินเพิ่มในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน 4,300-5,000 บาท ต่อเดือนและในระดับสัญญาบัตรเป็นเงิน 18,500-21,500บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผบ.หมุู่ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาทบวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300-5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630-16,330 บาท
ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรจะได้รับเงินเดือนๆแรกบรรจุ 15,290 บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500-21,500 บาทจะทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790-36,790 บาท
นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลที่ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาหรือที่เรียกว่า ”ค่าทำสำนวน” เพิ่มขึ้นอีก 100% เพราะอัตราที่ใช้อยู่ กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ. 2534 และยังมิได้ปรับเพิ่มในขณะที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.
Cr.thaipost
สำนักข่าววิหคนิวส์