14 ธ.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต เปิดเผยภายหลังการประชุมกมธ.เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมกำลังเร่งรัดงาน ตกลงกันว่าจะเคาะเนื้อหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค.60 เพื่อบรรจุเข้าวาระ 2-3 ของสนช.ต่อไป โดยประเด็นที่ถูกจับตาคือบทเฉพาะกาลเรื่องการต่อ หรือไม่ต่ออายุคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเก่านั้น ตกลงกันว่าจะคุยกันเป็นประเด็นสุดท้าย เพื่อสรุปในวันที่ 15 ธ.ค.60
แนวหน้า – เมื่อถามถึงประเด็นเรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของนักการเมือง จากร่างเดิมที่ กรธ.เสนอมา กำหนดให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินโดยสรุป พล.ร.อ.ธราธรณ์ กล่าวว่า จากที่กมธ.คุยพูดคุยและแปรญัตติอย่างละเอียด แนวโน้มความเป็นไปได้นั้นเนื้อหาการยื่นบัญชีทรัพย์สิน มาตรฐานจะไม่หนีจากกฎหมาย ป.ป.ช.ปี 42
พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจ กมธ.ได้คุยเพิ่มเรื่องหลักการ การไต่สวนคดี จะมีมาตราวางกรอบเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ ห้ามดองคดี ต้องทำงานรวดเร็ว ถ้าตรวจสอบพบว่า จงใจทำให้คดีล่าช้า มีบทลงโทษทางวินัยถึงขั้นไล่ออก เนื้อหาสำคัญอีกเรื่องคือ คุณธรรม จริยธรรม กมธ.จะบรรจุคำว่า “ระบบอุปถัมป์” เอาไว้ในเนื้อหากฎหมาย เพื่อป้องกัน และห้าม ไม่ให้มีระบบอุปถัมป์ที่เป็นบ่อการทุจริต ไม่ชอบมาพากล กัดกินประเทศไทยมายาวนาน อาทิ การบรรจุเรียกรับเข้าทำงาน และการเลื่อนตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ ต่อจากนี้ ต้องเป็นตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และความสามารถ นี่คือแนวโน้มความเป็นไปได้ของเนื้อหาต่างๆ ยังไม่ใช่มติของกมธ.อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ก่อนสรุปในวันที่ 15 ธ.ค.60 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นเรื่อง ต่อหรือไม่ต่ออายุคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเก่านั้น ในกมธ.พูดคุยกันว่า จะให้คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดเก่าอยู่ต่อไปตามยุทธศาสตร์ของคสช.ที่มีการ “สมคบคิด” โดยให้ สนช.เสียงข้างน้อย 36 คน ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า เป็นอำนาจของสนช.ที่กำหนดว่า จะให้องค์กรอิสระใดอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ จึงเป็นการปูทางให้การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ในตำแหน่งต่อขององค์กรอิสระต่อไปหลังจากนี้ อย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ตามด้วยล่าสุดคือ ป.ป.ช.
ส่วนเรื่องการเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง ได้มีการตัดคำว่าเปิดเผยโดยสรุปใน มาตรา 104 ของร่างดังกล่าว แต่ก็ยังอาจติดปัญหา ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 234 (3) ให้อำนาจป.ป.ช. “ตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน” ดังนั้น หากได้คณะกรรมการป.ป.ช. ที่ไม่มีความน่าไว้วางใจ ก็อาจจะทำให้เกิดการช่วยเหลือผู้มีอำนาจ หรือ กลั่นแกล้งทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้
สำนักข่าววิหคนิวส์