เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 20 กันยายน 2563 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) แถลงความคืบหน้าหลังกลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ภายหลังจากการยุติชุมนุมจะทำการเปิดการจราจรโดยรอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การจราจร มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ไม่น่าจะเกินเย็นวันนี้ก็คงจะเรียบร้อย แต่จะอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มน้องๆผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านโดยปลอดภัยก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำการปักหมุด เข้าข่ายความผิดใดบ้าง พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายใต้การดูแลของ 2 หน่วยงาน คือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สนามหลวงทั้งหมด กระทรวงศึกษาธิการดูแลตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เข้ามายังสนามหลวง ที่กรุงเทพฯเปิดให้ประชาชนใช้ในการทำกิจกรรมตามที่กำหนด ผู้ชุมนุมมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนการดำเนินการพักแรมค้างคืนก็เป็นส่วนหนึ่งที่กรุงเทพฯ ผู้ดูแลจะต้องพิจารณาว่าการค้างคืนนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร
ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหมุดบนพื้นซีเมนต์ของท้องสนามหลวง กรุงเทพฯต้องประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ ว่าการกระทำดังกล่าว เข้าองค์ประกอบความผิดแค่ไหนอย่างไร แต่เท่าที่ดูด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏน่าจะมีความผิดตามกฎหมาย ส่วนจะต้องดำเนินการเอาออกหรือไม่ ถ้าไม่มีความจำเป็นในสนามหลวง กทม.ก็ต้องมีการพิจารณาเพื่อออกไป
“การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ แม้เหตุการณ์จะต่อเนื่องกันก็ตาม การทำผิดส่วนที่ 1.ตั้งแต่ออกจากมหาวิทยาลัยลัยธรรมศาสตร์ เข้าสู่สนามหลวง ถ้าสนามหลวงเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ แต่การชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบถือว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเข้าไปในท้องสนามหลวงแล้ว อยู่เกินเวลาที่กำหนดถือว่าเป็นการกระทำผิดในส่วนที่ 2. การกระทำความผิดส่วนที่ 3 คือการปักหมุดตรงนี้ถือว่าเป็นส่วนเกินไม่ใช่สิ่งที่พึงมีในท้องสนามหลวง ทางกรุงเทพฯต้องพิจารณาต่อไป ส่วนผู้ที่กระทำความผิด ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกภาพและเสียงไว้หมด” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าแกนนำปราศรัยเนื้อหาไม่เหมาะสมจะดำเนินการอย่างไร พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่มีการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีพนักงานสอบสวนกว่า 40 นาย เฝ้าดู รวมทั้งบันทึกภาพ บันทึกเสียง เพื่อพิจารณาว่าการปราศรัยหรือการให้สัมภาษณ์ เข้าข่ายความผิดหรือไม่อย่างไร ถ้าเข้าข่ายความผิดก็จะดำเนินคดี
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่เป็นผู้รับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมไปในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนของส่วนสำนักองคมนตรี เมื่อรับหนังสือมาแล้วจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่ผู้ยื่นหนังสือมีความประสงค์ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามธุรการให้เร็วที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าเป็นสิ่งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจอยากจะให้เกิดขึ้นคือการเจรจาต่อรอง ไม่มีการเคลื่อนไหวหรือกระทำความผิดเพิ่มเติม
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมนัดชุมนุมกันวันที่ 23-24 กันยายนนี้ที่รัฐสภา เจ้าหน้าที่จะได้ติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อวางกำลังให้เกิดความเหมาะสม ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะใช้ แผนการชุมนุม 63 แต่ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้า เป็นความสำเร็จของการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายอยากให้เกิดขึ้น ส่วนแกนนำที่เข้าร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ ถูกออกหมายจับมาแล้วหลายคดี ถ้าพบมีการกระทำความผิดซ้ำหรือผิดเงื่อนไข การประกันตัวก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากการชุมนุมในครั้งก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน