เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #จับโป๊ะสหรัฐ ! อ้างไม่คบเผด็จการ แต่ส่งคนเจรจาเวเนฯ ขอช่วยลดน้ำมัน

#จับโป๊ะสหรัฐ ! อ้างไม่คบเผด็จการ แต่ส่งคนเจรจาเวเนฯ ขอช่วยลดน้ำมัน

11 March 2022
467   0

 

ท่ามกลางสงครามในยูเครน คณะผู้แทนอเมริกันย่องเข้าพบนิโคลัส มาดูโร ที่วอชิงตันตั้งแง่เรื่องความชอบธรรมในการรับตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่อุดมด้วยน้ำมัน แต่ข่าวการทัวร์ครั้งนี้กลับรั่วไหล ส่งผลให้คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องตะเกียกตะกายออกมาอธิบายสาเหตุที่ไปข้องแวะกับรัฐบาลเผด็จการ
.
ไบเดนอาจอวดอ้างความสำเร็จหลังจากเมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) คารากัสปล่อยชาวอเมริกัน 2 คนที่ถูกควบคุมตัวในเวเนซุเอลา ถ้าเพียงแต่ทริปนั้นไม่มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงไปด้วย
.
ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งพรวดจากสงครามในยูเครน รวมทั้งการที่วอชิงตันแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซทั้งหมดจากรัสเซีย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการหาซัปพลายน้ำมันจากที่อื่น
.
วิกตอเรีย นูแลนด์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลกคือ หาหุ้นส่วน องค์กร และนิติบุคคลที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันในตลาด และเนื่องจากมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบชนิดหนักแบบที่รัสเซียส่งออก อเมริกาจึงจำเป็นต้องเสาะแสวงหาจากทุกที่ที่ทำได้
.
ทั้งนี้ นูแลนด์ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่อาจมีการสั่งซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลา แม้ว่าอเมริกาคว่ำบาตรน้ำมันจากชาติละตินอเมริกาแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2019 มิหนำซ้ำคารากัสยังเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
.
ในส่วนมาดูโรนั้น มาเรียโน เดอ อัลบา ที่ปรึกษาในละตินอเมริกาของอินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป บอกว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการให้สัมปทานแบบต่างตอบแทน แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาจะทิ้งปูติน และสำทับว่า การพักการเป็นปฏิปักษ์ระหว่างวอชิงตันกับคารากัสจะเป็นกระบวนการที่เยิ่นเย้อ ไร้ความแน่นอน และเสี่ยงสูง
.
ไม่ว่าจะอย่างไร คณะบริหารของไบเดนถูกวิจารณ์ยับเรียบร้อย โดยในการแถลงต่อสภาเมื่อวันอังคาร นูแลนด์ไม่ได้ถูกรีพับลิกันไล่ต้อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสมาชิกเดโมแครตพรรคเดียวกับไบเดนด้วย
.
มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน โจมตีว่า การซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลาอาจส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่จะเท่ากับเป็นการโอนเงินหลายล้านดอลลาร์เข้ากระปุกออมสินมาดูโร
.
บ็อบ เมเนนเดซ ผู้นำเดโมแครตในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์สภาสูง ขานรับว่า การสร้างแรงบันดาลใจด้านประชาธิปไตยให้คนเวเนซุเอลามีค่ามากกว่าน้ำมันไม่กี่พันบาร์เรล
.
ขณะที่ แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตนักการทูตอเมริกันที่ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญของกองทุนคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ เชื่อว่า วอชิงตันจะยอมเสี่ยงถูกครหา เนื่องจากไบเดนกำลังพยายามหาช่องทางต่าง ๆ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของชาติกับการดูแลผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
.
แต่สถานการณ์ของไบเดนดูเหมือนละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นเนื่องจากเขาสัญญาไว้ว่า สิทธิมนุษยชนจะเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศที่ตอนนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ
.
ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ยืนยันว่า อเมริกาจะรับประกันเสถียรภาพของซัปพลายพลังงานทั่วโลกโดยไม่แลกด้วยจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน
.
กระนั้น จิม ริช วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน กำชับว่า อเมริกาต้องไม่แทนที่น้ำมันดิบชนิดหนักของรัสเซียด้วยซัปพลายจากประเทศเผด็จการอย่างอิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่สำคัญ วอชิงตันยังตกเป็นฝ่ายตั้งรับในแง่ความสัมพันธ์กับราชวงศ์ประเทศเศรษฐีน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย
.
วันพุธ ทำเนียบขาวถูกบีบให้ปฏิเสธข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัลที่รายงานว่า มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไม่ยอมรับสายไบเดน
.
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ข่าวแอกซิโอสจุดประเด็นว่า ไบเดนอาจไปเยือนริยาดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยอย่างน้อยที่สุดอาจเจรจากับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซาลมาน เพื่อโน้มน้าวให้ซาอุดีฯ ผลิตน้ำมันเพิ่ม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประมุขทำเนียบขาวปฏิเสธมาโดยตลอดที่จะยุ่งเกี่ยวกับรัชทายาทองค์นี้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บงการฆ่าจามาล คาช็อกกี นักข่าวที่วิจารณ์ริยาดอย่างรุนแรง
.
เสียงวิจารณ์ไบเดนยังดังมาจากสมาชิกปีกซ้ายของเดโมแครตอย่างอิลฮาน โอมาร์ ที่ทวีตว่า การรับมือสงครามที่ผิดศีลธรรมของปูตินไม่ควรหมายถึงการหันไปกระชับสัมพันธ์กับริยาด
.
——————————-