เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #จับโป๊ะ ทักษิณ ! ‘ป.ป.ช.’แจ้งข้อกล่าวหา ‘ทักษิณ-พิเชษฐ-ทนง-กนก’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณี ซื้อ‘แอร์บัส’ 10 ลำ

#จับโป๊ะ ทักษิณ ! ‘ป.ป.ช.’แจ้งข้อกล่าวหา ‘ทักษิณ-พิเชษฐ-ทนง-กนก’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณี ซื้อ‘แอร์บัส’ 10 ลำ

2 February 2023
193   0

 

 

1 กุมภาพันธ์ 2566
‘ป.ป.ช.’ มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ‘ทักษิณ-พิเชษฐ-ทนง-กนก’ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีจัดซื้อเครื่องบิน ‘แอร์บัส’ A340-500 และ A340-600 รวม 10 ลำ ทำให้ ‘การบินไทย’ ได้รับความเสียหาย ขณะที่ ‘สุริยะ’ รอด

สำนักข่าวอิศรสรายงานว่า ในช่วงเดือน ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพิเชษฐ สถิรชวาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม ,นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย

ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 ทำให้ บมจ.การบินไทย ได้รับความเสียหาย

ส่วนกรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะอดีต รมว.คมนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ถูกกล่าวหา นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป เนื่องจากในขณะที่มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ดังกล่าวนั้นนายสุริยะ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแล บมจ.การบินไทย แต่เป็นนายพิเชษฐ ในฐานะ รมช.คมนาคม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล บมจ.การบินไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหากับนายทักษิณ ,นายพิเชษฐ ,นายทนง และนายกนก อย่างเป็นทางการ และเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย มาชี้แจงต่อไป อย่างไรก็ดี เนื่องจากขั้นตอนนี้เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. เท่านั้น ดังนั้น บุคคลทั้ง 4 ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับ บมจ.การบินไทย มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ นายทักษิณ ,นายสุริยะ ,นายพิเชษฐ ,นายทนง และ นายกนก

ขณะที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเมื่อเดือน ก.ย.2564 ว่า ในช่วงปี 2545-2546 ตนดำรงตำแหน่งเป็น รมช.คมนาคม กำกับดูแลการบินไทยอยู่ แต่ดูงานแค่ภาคปฏิบัติ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารการบินไทยเสนอขึ้นมา ส่วนอำนาจการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เป็นของ รมว.คมนาคม รมช.ไม่มีอำนาจอะไร
ขนาดนั้น

“ผมไม่รู้เรื่องเลยว่าได้รับเกียรติอันนี้ด้วย แต่เข้าใจว่าเขาคงเห็นชื่อผมเป็น รมช.คมนาคม ที่กำกับดูแลการบินไทยตอนนั้นมั่ง แต่ รมช. ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากขนาดนั้น อำนาจการจัดซื้อหรือนำเรื่องเข้าครม. เป็นของ รมว. ถ้าหาก ป.ป.ช. เรียกให้ไปชี้แจง ผมก็พร้อมจะไปยืนยันข้อเท็จจริง” นายพิเชษฐ ระบุ (อ่านประกอบ : มี 5 คน ป.ป.ช.ตั้งคณะใหญ่ไต่สวนอนุมัติซื้อเครื่องบิน ‘ทักษิณ-สุริยะ-พิเชษฐ-ทนง-กนก’)

สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 นายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม ได้แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริตใน บมจ.การบินไทย โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ บมจ.การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุนนั้น มาจากการจัดซื้อเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ รุ่นแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจในช่วงปี 2546-2547

ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่น เป็นเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ ใช้เครื่องยนต์ 4 เครื่องยนต์ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูง แต่มีจำนวนที่นั่งน้อย ทำให้ตั้งแต่ทำการบินตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ถึง 7 ม.ค.2556 ในเส้นทางต่างๆรวม 51 เส้นทาง ปรากฏว่า บมจ.การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุนในทุกเส้นทางที่ทำการบินไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท โดยเฉพาะเส้นทางบินตรง กรุงเทพ-นิวยอร์ก และกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส มีการขาดทุนสูงถึง 12,496.55 ล้านบาท

นอกจากนี้ เครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ที่มีการใช้งานไม่คุ้มค่า โดยใช้งานได้เพียง 6-10 ปี ก่อนปลดระวาง ซึ่งต่ำกว่าอายุการใช้งานเครื่องบินโดยทั่วไปที่กำหนดไว้ 20 ปี ทำให้ บมจ.การบินไทย ขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 22,943.97 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมผลการขาดทุนจากการทำการบิน และการขาดทุนจากการด้อยค่าจากการจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว ทำให้ บมจ.การบินไทย ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบเอกสารมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า บุคคลที่ลงนามเสนอเรื่องการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติ คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม