22 ธ.ค.60 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลถึงการใช้มาตรา 44 ขยายกรอบเวลาดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่าจะทำให้ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่อยู่ในสถานการณ์เริ่มต้นไปด้วยกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบนั้น ว่า ตนเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทั้งเทียบไม่ได้กับความเสียหายของประเทศที่สูญเสียความเชื่อมั่นซ้ำซาก ซึ่งขอชี้ให้เห็นเป็นข้อๆ เพื่อความเข้าใจง่าย ดังนี้
แนวหน้า – 1.การที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเสียเอง ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน เป็นการทำลายความเชื่อมั่นประเทศตนเองซ้ำซาก ประเทศใดจะอยากคบค้าสมาคมด้วย ที่สำคัญจะตอบ EU อย่างไรที่ได้ยื่นไมตรีมาฟื้นความสัมพันธ์ แต่รัฐบาลกลับจะทำตรงกันข้าม
2.นอกจากจะทำลายความเชื่อมั่นประเทศด้วยมือตนเองแล้ว ยังทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง กล่าวคือ ผู้ที่เคลื่อนไหวจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ล้วนเป็นคนหน้าเดิมที่ประกาศชัดเจนว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นรม.ต่อ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ไม่ได้ทำเพื่อความเท่าเทียมอย่างที่อ้าง แต่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้องหรือไม่
3.มีการดำเนินการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างเป็นกระบวนการ เพื่อปูทางนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ตั้งแต่วางกติกาใน กม.รธน.ให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้ , ส.ว.มาจากการสรรหา แต่สามารถเลือกนายกฯ ได้ , ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ฯลฯ หากจะอ้างว่า กม.รธน.ผ่านประชามติ ถามว่ามีที่ไหนในโลกที่ทำประชามติท่ามกลางการมีอำนาจตามมาตรา 44 กำกับอยู่
4.ขณะนี้มีการวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่า มีการเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อปูทางนายกฯ มาจากคนนอก นอกจากกำหนดกติกาเอาเปรียบดังกล่าวข้างต้น ยังมีการวิพากษ์ว่า มีการใช้งบประมาณแผ่นดินหาเสียงล่วงหน้า ทั้งงบปกติ งบกลาง งบลับ เงินสะสมท้องถิ่น ไปประชุม ครม.สัญจรที่ไหน ก็ประกาศให้งบประมาณเท่านั้น เท่านี้ ทั้งเกณฑ์ประชาชนมาเพื่อฟังคำถามนำว่า จะสนับสนุนให้เป็น นรม.ต่อหรือไม่ ท่านจะตอบเสียงวิพากษ์ดังกล่าวอย่างไร ว่าไม่ใช่เป็นการหาเสียงล่วงหน้า
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลดังกล่าว ตนรู้สึกเสียดายอยู่ 2 ประการ คือ 1.เสียดายเวลาหลังจาก กม.รธน.มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 เม.ย.60 แทนที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณบวกต่อนานาชาติว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าสู่ ปชต.เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศให้กลับคืนมา แต่กลับยิ่งกระชับอำนาจนอกระบบให้ยาวนานเกินเหตุ
2.ตนรู้สึกเสียดายคำว่า ครูบา อาจารย์ ซึ่งเป็นของสูงที่ควรบูชา ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งควรทัดทาน ทักท้วง แนวทางที่ทำลายหลักนิติธรรม ทำลายระบบกฎหมายของประเทศให้ขาดความน่าเชื่อถือที่สำคัญคือ ส่งผลทำลายความเชื่อมั่นประเทศ ทำไมไม่ทักท้วง ไม่ทัดทาน
นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า หากผู้บริหารปัจจุบัน ต้องการทำการเมืองต่อจริงๆ ควรแสดงสปิริตด้วยการถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหาคนกลางที่เป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เข้ามาทำหน้าทีในงานสำคัญของชาติ และบริหารจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและนานาชาติในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านสั้นๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าตามระบอบ ปชต.ที่เชื่อมโยงกับสากลสืบไป
สำนักข่าววิหคนิวส์