หยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบชั่วนาตาปี เพื่อไทยชี้ เหตุจำกัดสิทธิเสรีภาพการเมืองจนไทยถูกองค์กรต่างชาติจัดเป็นประเทศ “ไร้เสรีภาพ” สองปีซ้อน
———-
ชญาภา สินธุไพร – Chayapa Sindhuprai รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกลดสถานะอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ไร้เสรีภาพ’ สองปีซ้อน มีคะแนนสิทธิพลเมือง 5 เต็ม 40 และเสรีภาพพลเมือง 24 เต็ม 60 จากการจัดทำดัชนีเสรีภาพปี 2022 (Freedom in the World 2022) โดย Freedom House องค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไทยนับวันยิ่งเสื่อมถอย สาเหตุหลักที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในประเทศไร้เสรีภาพคือ การสลายการชุมนุมและระบบการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง
.
นับตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่อำนาจด้วยการก่อการรัฐประหาร เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน พลเมืองถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สถานการณ์กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม รัฐบาลยังคงปราบปรามและกระทำต่อผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ขัดขวางไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบ มีเหตุการณ์การการสลายการชุมนุมกลุ่มเยาวชนเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม ถูกตั้งข้อหาและมีการเอาผิดทางอาญา มีนักโทษทางความคิดจำนวนมาก ที่ถูกดำเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นที่น่ากังวลใจ
.
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีเยาวชน นักศึกษา ประชาชนจำนวนมากถูกจับกุม ดำเนินคดี แล้วกว่าพันคน ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนกว่าร้อยราย และหลายคนยังไม่ได้สิทธิในการประกันตัวออกมาสู้คดี
.
ชญาภา กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงมุ่งต่ออายุการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแบบชั่วนาตาปี ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อการจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อย่างที่กล่าวอ้าง แต่แท้จริงเป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองของตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างเท่านั้น
.
รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศต่างๆ ที่ออกตามอำนาจของ พ.ร.ก. เลิกรวบอำนาจศูนย์กลางไว้ที่พลเอกประยุทธ์ เพื่อใช้อ้างเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่ยังคงใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเดียวแทนก็เพียงพอต่อการจัดการโรคระบาด
.
นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ใน 10 ประเทศ ‘Countries in the spotlight’ ที่มีความเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2021-2022 คือสถานการณ์ด้านเสรีภาพถดถอยจนต้องจับตามอง ร่วมกับชิลี อิหร่าน อิรัก พม่า นิการากัว รัสเซีย สโลวีเนีย ซูดาน และแซมเบีย ยิ่งตอกย้ำความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในประเทศไทย คงยากที่จะถามหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จากอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร
.
ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ เคยชินกับการใช้อำนาจนอกระบบแบบที่ประชาคมโลกไม่ให้การยอมรับ เคยชินกับการจัดการปราบปรามประชาชนคนเห็นต่าง ยิ่งอยู่นานประชาธิปไตยไทยยิ่งเสื่อมถอย ยากที่จะกู้คืนภาพลักษณ์ประเทศกลับมาภายใต้การนำของรัฐบาลนี้