การควบคุมบริหารจัดการโรคระบาดโควิด 19 ของประเทศไทยทำได้ดีพอสมควร
ด้วยความพร้อมและความสามารถของการแพทย์และสาธารณสุขของไทย จึงทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงนัก
แต่หากประประเมินสถานการณ์โดยรวม ไทยน่าจะควบคุมได้ดีกว่านี้ ถ้าไม่มีจุดผิดพลาดและไม่พร้อมบางประการ เช่น
1. เมื่อเกิดเหตุระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อกลางเดือนราว 23 มกราคม 2563 เราต้องตื่นตัวเตรียมตัวคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทันท่วงที แต่ปรากฎว่าเรากลับสวนกระแส โดยส่งเสริมการเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยว
2. ความผิดพลาดในการกักกันผีน้อยที่เดินทางกลับจากเกาหลี และก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ซอยทองหล่อ ทำให้มีการแพร่ขยายโรคมากขึ้น
3. เหตุการณ์ที่สนามมวยลุมพินี ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล ประกอบกับผีน้อย จึงมีผู้ติดโควิดจากสนามมวยถึง 140 กว่าคนและแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เพราะเซียนมวยมาจากทั่วประเทศ และติดไปจนถึงรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงด้วย
4. การประกาศปิดกิจการต่างๆในกรุงเทพมหานคร โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบและมีมาตรการใดใดรองรับการเดินทางกลับบ้านของประชาชนอย่างกระทันหัน เร่งด่วน การไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ กระทบทั้งการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว ทั่วประเทศ และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก
5. ความไม่พร้อมและความผิดพลาดในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ ยารักษาโรค ทั้งหน้ากากอนามัย เจล แอลกอฮอล เสื้อ PPE NPC เครื่องทดสอบโรค เครื่องช่วยหายใจ การบริหารจัดการที่มีปัญหา
6. เหตุการณ์เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนาที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและความไม่พร้อมในการจัดการกักกันทำให้ตัวเลขพุ่งสูงขึ้น
7. การไม่สร้างความเข้าใจและร่วมมืออย่างแท้จริงในการปฏิบัติตนอันทำให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวม ความไม่ชัดเจนเด็ดขาดในการสื่อสารปฏิบัติการก่อให้เกิดความวุ่นวายบ้าง
8. มาตรการเยียวยาต่างๆดูจะยังสร้างปัญหาทางการเงินของชาติมากพอสมควร
ข้อสำคัญที่สุดคือดูเหมือนว่าเราแก้ปัญหาโดยการตั้งรับและแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์ แต่ไม่ได้วางแผนเชิงรุกควบคุมเตรียมรับไว้ล่วงหน้า (Proactive Planning)
หากเราได้ปรับตัวให้ดีขึ้น ก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่านี้
ขอจงโชคดี และเราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน โดยบาดเจ็บน้อยที่สุด