2 พ.ย.2564- นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom กรณี พรรคเพื่อไทยกับมาตรา112และ116
ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ต่อกรณีมาตรา 112 และ มาตรา 116 ช่วงนี้ ทำให้นึกถึงคดีสำคัญคดีหนึ่ง ที่นายทักษิณฟ้องหมิ่นประมาทลุงกำนันสุเทพ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552
คดีนี้ นายทักษิณ เป็นโจทก์ฟ้อง ลุงกำนันสุเทพ ข้อหาหมิ่นประมาทที่ศาลอาญา สืบเนื่องจากลุงกำนันได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า นายทักษิณ ชินวัตร คิดจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี
และยังได้กล่าวอภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า “ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบระบอบประธานาธิบดีในจิตใจส่วนลึกของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากเป็นประธานาธิบดี”
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเชื่อมโยงเหตุผล ของพรรคเพื่อไทยที่กระทำในวันนี้ ผมจะขอสรุปคำพิพากษามาให้อ่านสั้นๆ
ในส่วนตัวโจทก์เองก็ได้แสดงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2548 โจทก์ได้พูดกับกลุ่มบุคคลที่หอประชุมอินดอร์สเตดียมหัวหมาก ด้วยข้อความไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ได้พูดในรายการนายกทักษิณ คุยกับประชาชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโจทก์ โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 โจทก์ได้พูดต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่ามีผู้บารมีเหนือรัฐธรรมนูญมาก่อความวุ่นวายต่อระบอบประชาธิปไตยมากเกินไป
จนทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การกระทำของโจทก์ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่าโจทก์ไม่ปกป้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ ร้อยตำรวจโท เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ก็ได้อภิปรายยอมรับต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า “พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย มีความเชื่อมโยงกันเป็นเนื้อเดียวกัน
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้งและมีการตั้งโต๊ะเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จากพฤติกรรมของโจทก์เป็นผลให้ พล.ต.อ.วิสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์หลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ การที่จำเลยพูดให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2552 ว่า โจทก์คิดจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี นั้นสืบเนื่องจากกรณีที่ โจทก์ได้พูดคุยกับผู้ร่วมสัมมนาว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นเสือหิวเสือโหย
ดังนั้น ตามที่จำเลยวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของโจทก์ แล้วสรุปว่าวันหนึ่งโจทก์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดี จึงน่าเชื่อว่าจำเลยกล่าวไปโดยมีเจตนาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์และคนเสื้อแดงมิให้กระทำการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์
จากสถานะของจำเลยจึงอยู่ในฐานะและมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความนั้นได้ การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
เมื่ออ่านคดีนี้แล้ว น่าจะพอคาดเดา อะไรบางสิ่งบางอย่างได้เกี่ยวกับทิศทางของพรรคเพื่อไทยว่า ทำไมจึงขับเคลื่อนเรื่อง มาตรา112 และมาตรา 116.